ก.เกษตรตั้งคณะอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจแก้ปัญหาการระบาดเพลี้ยแป้งในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังให้เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจในการขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งไม่ให้ลุกลาม โดยมี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก โดยแบ่งเป็นพื้นที่ที่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกแล้ว 9 แสนกว่าไร่ และที่เกษตรกรจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมอีกจำนวน 3,027,121 ไร่

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเพลี้ยแป้งล่าสุด ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศจำนวน 7.7 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกประมาณ 437,496 ราย พบว่า จากจำนวนต้นมันสำปะหลังที่ยืนต้นในพื้นที่ประมาณ 3.74 ล้านไร่ เป็นต้นมันสำปะหลังที่มีการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง เป็นแหล่งสะสม และแพร่กระจายเพลี้ยแป้งไปสู่แปลงมันสำปะหลังอื่นประมาณ 1.08 ล้านไร่

ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งเข้าไปดำเนินการควบคุม ป้องกันความเสียหายของผลผลิตมันสำปะหลังที่อยู่ในระยะการเจริญเติบโตของต้นมันสำปะหลังอายุ 1—4 เดือนจำนวน 527,431 ไร่ และต้นมันที่โตแล้วอีกจำนวน 5 แสนกว่าไร่ โดยใช้มาตรการควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ไม่ให้ขยายวงกว้างโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งเข้าไปดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 45 จังหวัด เช่น จังหวัดลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น ตามมาตรการต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้เกษตรกรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก การจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเพื่อเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังแบบครบวงจรให้ครบจำนวน 1,152 ศูนย์โดยสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในชุมชนเป็นหลัก และผลิตขยายเพิ่มปริมาณหรือจัดหาศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส จำนวน 300 ล้านตัว เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 30,000 — 40,000 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ