นายกฯ ติดตามงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ-ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิททธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ติดตามงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินใน 2 โครงการหลัก ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ค.แก้หนี้นอกระบบสำเร็จ 4.5 แสนราย พร้อมเร่งมือส่วนที่เหลือ ขณะที่หนี้เกษตรกรจะมีการเปิดรับกลุ่มเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตเกษตรกร เพื่อให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีผู้ขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 1 ล้านราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีการจัดหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ ลูกหนี้และคนกลาง เพื่อนำเสนอต่อธนาคารต่าง ๆ ที่จะอนุมัติสินเชื่อให้แล้ว 7-8 แสนราย โดยขณะนี้ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้แล้ว 2 แสนราย โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน มิ.ย.น่าจะอนุมัติเพิ่มเป็น 3 แสนราย และประมาณสิ้นเดือน ก.ค.ตั้งเป้าว่าจะสามารถดำเนินการได้ประมาณ 450,000 ราย

จากนั้นจะเหลืออีก 2 กลุ่มที่ยังมีปัญหา กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีปัญหาในการได้รับอนุมัติสินเชื่อเพราะขาดผู้ค้ำประกัน กระทรวงการคลังก็จะได้รับไปดูว่าจะมีมาตรการเสริมอย่างไร เพื่อให้คนกลุ่มคนดังกล่าวสามารถที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้ ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนหน้าจะเรียบร้อย

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ที่ขาดรายได้ ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะได้ประสานงานกับกระทรวงอื่น ๆ ในเรื่องของโครงการที่จะมารองรับและช่วยให้สถานะของกลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในฐานะที่จะขอสินเชื่อได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาหนี้สินของสมาชิกของกองทุนฟื้นฟู ซึ่ง ครม.เคยมอบหมายให้พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีไปประสานงานกับธนาคาร 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินนั้น ได้มีข้อตกลงในหลักการว่าเกษตรกรลูกหนี้ซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในปัจจุบันประมาณ 80,000 ราย ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคาร 4 แห่งดังกล่าวจะได้เข้าสู่โครงการปรับโครงสร้างหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะเป็นการพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน โดยจะให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้ต้นเงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดในโครงการ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ชัดเจนและมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องของหนี้สินในสองกลุ่มนี้ คือในส่วนของหนี้นอกระบบและ NPL ของกองทุนฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อตกลงอย่างนี้แล้วจะมีเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟู และต้องการที่จะเข้ามาสู่โครงการลักษณะนี้ ก็จะมีการเปิดให้เข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูเพื่อจะสามารถเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวได้ด้วย ฉะนั้นตัวเลขจะได้มากกว่า 80,000 รายในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ