In Focusเรื่องของ “เงินหยวน" ที่ “ไม่หยวน" เหมือนชื่อ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 23, 2010 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดการเงินทั่วโลกเปิดทำการวันแรกของสัปดาห์นี้ด้วยความตื่นเต้นและคึกคักเป็นพิเศษ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ออกมาประกาศแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จีนจะปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการเลิกผูกติดเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐที่ดำเนินมาเป็นเวลาสองปี

ขณะที่หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีน และองค์กรระหว่างประเทศก็ออกมาขานรับการตัดสินใจดังกล่าวของแบงก์ชาติจีนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งอียู ไอเอ็มเอฟ แคนาดา ญี่ปุ่น และที่ขาดไม่ได้คือ สหรัฐอเมริกาที่น่าจะยินดีกว่าใครเพื่อน หลังจากเป็นตัวตั้งตัวตี ใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็งในการขอร้องและกดดันให้จีนปล่อยเงินหยวนแข็งค่ามาโดยตลอด

โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของจีนจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจโลก

"การตัดสินใจเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนถือเป็นก้าวที่สร้างสรรค์ที่จะช่วยปกป้องการฟื้นตัวและเอื้อต่อการสร้างความสมดุลต่อเศรษฐกิจโลก" ผู้นำสหรัฐกล่าว

… แต่ทำไมสหรัฐจะต้องให้ความสำคัญกับสกุลเงินหยวนของจีนอย่างออกหน้าออกตา และเหตุใดจีนที่ทำหูทวนลมต่อเสียงเรียกร้องของสหรัฐและนานาชาติมาตลอด จู่ๆ กลับยอมแสดงท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามแบบไม่ให้ทันได้ตั้งตัว หรือการประกาศของจีนครั้งนี้จะมีลับลมคมในซ่อนอยู่ ...

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีชนวนเหตุมาจากเงินหยวน

ในโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปีพ.ศ.2544 จีนได้ให้คำมั่นว่าจะค่อยๆลดการผูกติดเงินหยวน (renminbi: RMB) กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งในเดือนก.ค.2548 จีนก็ได้ปรับเพิ่มมูลค่าเงินหยวน 2.1% และปล่อยให้เคลื่อนไหวขึ้น-ลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินหลักๆ ส่งผลให้ในระหว่างปีพ.ศ. 2548 — 2551 เงินหยวนได้แข็งค่าขึ้น 21% แตะ 6.83 หยวน จากระดับ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.ค.2551 ธนาคารกลางจีนตัดสินใจกลับมาผูกติดเงินหยวนกับดอลลาร์อีกครั้ง โดยถือโอกาสในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกซึ่งส่งผลกระทบเต็มๆต่อผู้ส่งออกของจีน เนื่องจากความต้องการสินค้าจีนจากลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งก็คือบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกหดตัวลง โดยจีนมองว่าการทำให้สกุลเงินของตนมีเสถียรภาพจะช่วยบรรเทาผลกระทบรุนแรงที่มีต่อผู้ส่งออกของจีนได้

แต่ในขณะที่จีนกำลังเพลิดเพลินกับมูลค่าการค้าที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นนั้น เรื่องดังกล่าวกลับจุดชนวนสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจทั้งสอง เนื่องจากการใช้นโยบายเงินหยวนในลักษณะดังกล่าวเท่ากับว่าทางการจีนกำลังให้เงินอุดหนุนภาคส่งออกของตน ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกและได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่นๆ ในทางกลับกันก็ทำให้สินค้าสหรัฐที่จำหน่ายในประเทศจีนมีราคาสูงขึ้นมาก นอกจากนี้เงินหยวนที่อ่อนค่ายังจูงใจให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนาไปที่จีน ซึ่งมีคนงานค่าแรงถูกกว่ามากแทน ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี้นำไปสู่การขาดดุลการค้าเป็นมูลค่ามหาศาลของสหรัฐให้กับจีนในแต่ละปี และเลยไปถึงปัญหาว่างงานด้วย

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ การค้าระหว่างจีนและสหรัฐมีมูลค่ารวม 3.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว ซึ่งจีนเป็นฝ่ายเกินดุลอยู่ 2.268 แสนล้านดอลลาร์ โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับสองของสหรัฐ รองจากแคนาดา ส่วนสหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับสองของจีน รองจากอียู ขณะที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราว่างงานในเดือนพ.ค.ยังคงอยู่ที่ระดับสูงที่ 9.7%

นอกจากนั้น การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจากสหรัฐและจีนในเดือนล่าสุดนี้ยิ่งตอกย้ำความวิตกกังวลเรื่องความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ โดยการส่งออกของจีนในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้น 48.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับจีนอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อน

สำหรับบุคคลหนึ่งที่ถือเป็นด่านหน้าของสหรัฐในการเจรจาเรื่องเงินหยวนกับจีนก็คือ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ท่ามกลางแรงกดดันจากสมาชิกสภาคองเกรสและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นกับเรื่องนี้ และเสนอให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนซึ่งสหรัฐมองว่ามีมูลค่าต่ำเกินจริง

อย่างไรก็ดี ไกธ์เนอร์พยายามที่จะไม่หักหาญน้ำใจจีนมากจนเกินไป โดยภายหลังการเยือนจีนเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไกธ์เนอรได้กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า สหรัฐไม่สามารถบังคับให้จีนปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้ แต่เขาก็คาดหวังว่าจีนอาจจะปรับขึ้นค่าเงินหยวนในอนาคต

"จีนเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนย่อมเป็นอำนาจในการตัดสินใจของจีนเองด้วย สหรัฐไม่สามารถบีบบังคับให้จีนทำในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าท่าทีของจีนจะดีขึ้น เพราะจีนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในฐานะประเทศที่มีความเป็นอิสระ" ขุนคลังสหรัฐกล่าว

นอกจากนี้ รมว.คลังสหรัฐยังให้สัมภาษณ์กับรายการ Fox Business ด้วยว่า เขาไม่มีความวิตกังวลว่าสหรัฐกำลังทำสงครามการค้ากับจีน แต่สิ่งที่สหรัฐจะทำคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทของสหรัฐว่า พวกเขาจะสามารถแข่งขันกับบริษัทจีนในตลาดการค้าโลกได้

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกาศนโยบายเงินหยวนของจีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจึงถือเป็นการตอบสนองความปรารถนาอันแรงกล้าที่สุดประการหนึ่งของ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐและจีนลงได้ไม่มากก็น้อย

ด้าน จอน ฮันท์สแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีน ก็ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของรัฐบาลจีน จะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน และระบุว่าการปรับเปลี่ยนค่าเงินหยวนถือเป็น “ความพยายามอย่างแท้จริง" ของจีนที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

แค่บังเอิญ หรือ จงใจ?

การประกาศของจีนที่สร้างเซอร์ไพรส์ไปทั่วตลาดการเงินโลกนี้ มีขึ้นก่อนที่การประชุมสุดยอด จี20 จะเปิดฉากขึ้นในระหว่างวันที่ 26 — 27 มิ.ย. นี้ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา

เป็นเรื่องประจวบเหมาะ หรือ เป็นการกระทำที่มีเจตนา?

โดยในวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย. หรือเพียงหนึ่งวันก่อนที่ธนาคารกลางจีนจะออกมาประกาศข่าวเซอร์ไพรส์ดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเพิ่งออกมากล่าวว่า ค่าเงินหยวนไม่ใช่ประเด็นที่เหมาะสมที่จะนำมาหารือในการประชุม จี20

นาย กุ่ย เทียนไค รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศจีน ชี้ว่า เรื่องเงินหยวนเป็นเรื่องภายในประเทศที่จีนจะประเมินกันเอง และไม่ใช่ประเด็นที่ควรจะมีการหารือกันในระดับนานาประเทศ พร้อมกับกล่าวว่า ประเด็นที่จีนมุ่งเน้นในการประชุมช่วงสุดสัปดาห์นี้คือ การเพิ่มอิทธิพลของประเทศกำลังพัฒนาในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การต่อต้านการกีดกันทางการค้า และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศยากจนมากขึ้น

ทางด้านจาง เถา ผู้อำนวยการแผนกต่างประเทศของธนาคารกลางจีน กล่าวในวันเดียวกันว่า จากที่เขาได้เห็นวาระการประชุมสุดยอดที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ไม่มีการรวมเรื่องเงินหยวนไว้ในวาระ พร้อมกับแสดงความเห็นในทำนองเดียวกับรมช.ต่างประเทศว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนถือเป็นเรื่องภายในประเทศ และรัฐบาลจีนจะดำเนินนโยบายเงินหยวนตามปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ

และล่าสุด สดๆร้อนๆเมื่อวานนี้ จีนได้ออกมาขวางการนำประเด็นเงินหยวนขึ้นหารือในที่ประชุม จี20 อีกครั้ง โดยชี้ว่าที่ประชุมควรมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่า

นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงสรุปข่าวประจำวันว่า ที่ประชุมไม่ควรอภิปรายเรื่องนโยบายค่าเงินของจีน เพราะในการประชุม จี20 ทั้งสามครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการนำสกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมมาก่อน

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา อาจประสบความสำเร็จในการทำให้เงินหยวนไม่ต้องตกเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในที่ประชุม จี20 ช่วงสุดสัปดาห์นี้ :

  • หลี่ เฉิง หัวหน้านักวิจัยจากจอห์น แอล ธอร์นตัน ไชน่า เซ็นเตอร์ ที่สถาบันบรูคกิงส์ ในวอชิงตัน กล่าวว่า ถ้าหยวนกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จีนก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าสายตาในสปอทไลท์ได้
  • เอสวาร์ ปราสาด อดีตหัวหน้าแผนกจีนที่ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า การประกาศปรับนโยบายเงินหยวนก่อนการประชุมที่โทรอนโตจะมีขึ้นนั้น เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นเงินหยวนไปที่ยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศพัฒนาแล้ว
  • ไบรอัน แจ็คสัน จากรอยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา ในฮ่องกง กล่าวว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม ด้วยหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าจีนจริงจังเกี่ยวกับการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับอัตราแลกเปลี่ยนของตน
  • สเตฟานี แฟลนเดอร์ส บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของบีบีซี กล่าวว่า การที่จีนออกมาประกาศข่าวในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
  • นิโคลัส ลาร์ดี จากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า ประกาศของแบงก์ชาติจีนเป็นความพยายามที่จะทำให้ที่ประชุม จี20 ปล่อยวางประเด็นเงินหยวน

อย่างไรก็ดี นายลาร์ดีมองว่า จีนจะซื้อเวลาได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเงินหยวนยืดหยุ่นมากแค่ไหนหลังจากที่แบงก์ชาติจีนได้ประกาศปรับนโยบายดังกล่าว โดยปธน.หูอาจถ่วงเวลาได้ไม่นานนัก ถ้ายอดเกินดุลการค้าของจีนยังเพิ่มสูงขึ้น และเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเพียง 2 — 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในระยะใกล้นี้

โดยวานนี้ ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางของอัตราแลกเปลี่ยนหยวนประจำวันที่ระดับ 6.7980 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ทางการจีนปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในเดือนก.ค.2548 และเป็นครั้งแรกที่จีนเพิ่มค่ากลางเงินหยวนนับตั้งแต่ที่กลับมาผูกติดกับดอลลาร์เมื่อสองปีก่อน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า จีนจะยังคงจำกัดการแข็งค่าของเงินหยวน เพื่อที่จะไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

ด้านสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐขู่ที่จะขัดขวางความพยายามของจีนที่ไม่ต้องการให้ประเด็นเรื่องเงินหยวนเข้าสู่ที่ประชุม โดยนายแซนเดอร์ เลอวิน สมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐมิชิแกน กล่าวเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ว่า จีนจำเป็นต้องลงมือแก้ไขประเด็นเงินหยวนให้ได้ก่อนเสร็จสิ้นการประชุม จี20 มิฉะนั้นจีนจะถูกสหรัฐลงโทษด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า

เช่นเดียวกับนายชาร์ลส์ ชูเมอร์ วุฒิสมาชิกสหรัฐที่กล่าวว่า แผนการดังกล่าวของจีนยังคงคลุมเครือ และเขาจะเดินหน้าผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อเล่นงานจีนโทษฐานกีดกันการค้าต่อไป

ขณะเดียวกัน ปธน.โอบามาก็ยังแสดงความหวังที่จะหารือประเด็นเงินหยวน ร่วมกับประเด็นอื่นๆ ในการประชุมสุดยอด จี20 ช่วงสุดสัปดาห์นี้

จากนานาทัศนะข้างต้น เห็นทีเรื่อง "เงินหยวน" จะ "ไม่ใช่เรื่องหยวนๆ" อย่างที่จีนคาดหวังจากสหรัฐ หรือ สหรัฐคาดหวังจากจีน และดูท่าทั้งสองประเทศคงจะต้องงัดข้อกันต่อไปอีกนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ