กมธ.เกษตรฯ จี้รัฐแก้ปัญหาไก่-ไข่ทั้งระบบ แนะยกเลิก/ปรับโครงสร้าง Egg Board

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2010 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร 20 คน ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงไก่ไข่ทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนลูกไก่ไข่และมีราคาแพงให้แก่เกษตรกร

สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงไก่ไข่ทั้งระบบของกรรมาธิการการเกษตรฯ มี 2 แนวทาง ดังนี้ 1.เห็นควรยกเลิกคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์(Egg Board) และยกเลิกการควบคุมการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เนื่องจากมาตรการในการควบคุมการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และให้โควตาการนำเข้าแก่ผู้ประกอบการเพียง 9 ราย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเข้าของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ซึ่งเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบอาฟต้า(AFTA) และองค์การการค้าโลก(WTO)

โดยผลดีจากการยกเลิก ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่มีเครื่องมือในการผูกขาดอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ รวมทั้งการเปิดเสรีจะทำให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และทำให้มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ไก่ไข่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้ ทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนทำให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารสัตว์ไว้ใช้เอง โดยไม่ต้องถูกบังคับซื้ออาหารสัตว์ร่วมกับการซื้อลูกไก่ไข่ ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถลดต้นทุนการผลิตไก่ไข่ได้ และทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคไข่ไก่ในราคาถูก

2.หากไม่ยกเลิก Egg Board ก็ควรให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและที่มาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ และให้เพิ่มโควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เนื่องจากโครงสร้างและที่มาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯ ในชุดปัจจุบันมีสัดส่วนผู้แทนเกษตรกรน้อยกว่าภาคราชการและผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงทำให้ถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกโดยคณะกรรมการเป็นไปในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นจึงควรเพิ่มสัดส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยเข้าไปด้วย

นอกจากนี้การให้โควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่กับบริษัทเอกชน 9 ราย จำนวน 405,721 ตัว ยังทำให้บริษัทผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเลี้ยงไก่ไข่ไปสู่การผูกขาดการเลี้ยงด้วยการผลิตลูกไก่ไข่เพื่อเลี้ยงในฟาร์มของตนเอง และกลุ่มฟาร์มคู่สัญญา(Contract Farming)ของบริษัท ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นจึงเห็นควรเพิ่มโควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ โดยอนุญาตให้บริษัทหรือสหกรณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรทั่วประเทศเป็นผู้นำเข้าเพื่อผลิตลูกไก่ไข่ให้แก่เกษตรกรรายย่อยอย่างทั่วถึงต่อไปด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบคอบทั้ง 2 ด้าน คือ หากยกเลิกตามแนวทางที่เสนอมาแล้วจะมีผลกระทบในวันข้างหน้าและจะเกิดปัญหาเรื่องไข่ไก่ล้นตลาดหรือไม่ด้วย ตลอดจนจะทำให้เกษตรกรมาร้องเรียนในเรื่องของการขาดทุนอีกหรือไม่

ทั้งนี้ตามกฎหมายแล้ว Egg Board ไม่มีอำนาจไปตัดสิทธิคนที่ต้องการที่จะนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพราะการขออนุญาตนำเข้าไก่ต้องทำได้อย่างเสรี ยกเว้นกรณีที่มีปัญหาประสบภัยแล้งและมีโรคระบาดเท่านั้น

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้ฝากให้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ฯ ได้ไปศึกษาในเรื่องของหมูที่อาจจะมีปัญหาเช่นเดียวกับเรื่องของไข่ได้ รวมถึงเรื่องน้ำซึ่งมีปัญหาขาดแคลนจนส่งผลกระทบต่อการทำนาปรังของเกษตรกรในต้นปีหน้าด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ฯ ก็รับที่ไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางเสนอรัฐบาลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ