นายกฯ ย้ำกระตุ้นศก.ต่อเนื่อง คาดหวังการลงทุนเกษตร-เศรษฐกิจสร้างสรรค์เติบโต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2010 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการหารือกับคณะผู้จัดการกองทุนในประเทศ บล.เคที ซีมิโก้ว่า โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการมองในเชิงของตัวนโยบายเศรษฐกิจและภาวะแวดล้อม ค่อนข้างมองในทางบวกว่าการขยายตัวในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้าจะเป็นไปได้อย่างชัดเจน รัฐบาลหวังจะเห็นการเติบโตในการลงทุนภาคเกษตรและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะมีการผลักดันนโยบายและมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อเป็นตัวกระตุ้นและเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนได้

นายกรัฐมนตรี คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโต 6% หรืออาจจะมากกว่านั้น เป็นการขยายตัวค่อนข้างครอบคลุมทุกภาคทุกสาขา แต่ก็มีจุดที่เป็นความเสี่ยงอยู่สองจุดคือ เรื่องการเมืองในประเทศ ที่ถ้าหากมีปัญหาความไม่เรียบร้อยอีกก็จะส่งผลกระทบแน่นอนทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป และในเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังวางใจไม่ได้ โดยเฉพาะในยุโรปที่จะมีผลกระทบกับการส่งออกอยู่บ้าง ทั้งปัญหากำลังซื้อและอัตราแลกเปลี่ยน

เท่าที่ดูขณะนี้การส่งออกก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่เรื่องการเมือง ถ้าหากสามารถบริหารจัดการได้ก็ต้องดูว่าตัวที่จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าจะมีอะไรที่เป็นตัวรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

พร้อมกันนี้ ได้ยืนยันว่าภาครัฐยังมีการกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง และการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามพ.ร.บ.กู้เงินเดิม จะต้องโอนมาเพื่อให้เข้าสู่ระบบงบประมาณได้ไปอีก 2 ปีงบประมาณ ทั้งนี้ จากเดิมคาดว่าปีนี้จะขาดดุลค่อนข้างมาก แต่การจัดเก็บรายได้น่าจะเกินเป้าไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท ฉะนั้นตัวการขาดดุลที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าเดิมมาก ซึ่งหมายความว่าถ้ามีความจำเป็นในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไปอีกในปีงบประมาณถัดจากนี้ไป

"ไม่มีปัญหามากนักในเรื่องของข้อจำกัดทางด้านการคลัง แต่สิ่งที่จะต้องจับตาดูคือตามแนวทางเดิมที่วางไว้ การลงทุนของภาคเอกชนเองจะต้องเป็นตัวที่รับไม้ต่อ ซึ่งเราอยากจะให้เกิดขึ้น" นายกรัฐนตรี กล่าว

ทั้งนี้มีสัญญาณเบื้องต้นที่ดีเพราะมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกปี 53 จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นถึง 50% และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความสนใจที่จะมาลงทุนหลากหลายทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป แต่เรื่องที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นก็คือปัญหามาบตาพุดที่คาดว่าตัวบัญชีกิจการน่าจะเรียบร้อยได้เร็ว ๆ นี้

นายกฯ กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนโยบายธุรกิจสื่อสารที่สัมพันธ์กับคดียึดทรัพย์ และเรื่องความพยายามของกระทรวงการคลังที่จะมีการแปรสัญญาสัมปทานก่อนที่จะออกใบอนุญาต 3 จี ว่า ประกาศของกทช. ได้ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้แล้ว ซึ่งจะมีเวลาให้ผู้สนใจเข้าประมูลได้ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

ฉะนั้น โดยหลักแล้วถ้าผู้รับสัมปทานในปัจจุบันมีความสนใจที่จะยื่นประมูล ซึ่งเรื่องที่กระทรวงการคลังกำลังทำอยู่จะต้องเสร็จก่อน หากยังไม่เสร็จภายในเดือนนี้ก็คือทำไม่ได้ เพราะในกรณีที่รัฐจะไปเลิกสัญญาสัมปทานแล้วแปลงมาเป็นระบบใบอนุญาตในลักษณะเหมือนกับฝั่งเดียวคงไม่เกิดขึ้น จะอยู่ที่การเจรจาและความสมัครใจ ฉะนั้นจะต้องมีความชัดเจนก่อน 1 เดือน ส่วนผลสืบเนื่องจากคดียังมีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ากรณีที่เคยไปแก้สัญญาแล้วไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็คงจะเป็นข้อพิพาทกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประมูล 3G ในแง่ของการที่จะเร่งรัดให้เกิดขึ้น เพียงแต่ยังมีความกังวลถึงเงื่อนไขการประมูลว่าจะได้สิ่งที่ดีสุดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงการคลัง และกทช. หารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้เป็นกติกาที่ดี แต่ยังไม่สามารถตอบในรายละเอียดได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือยัง

"ต้องยอมรับว่าทุกประเทศมีปัญหาเกือบทั้งสิ้น หลายประเทศที่ทำการประมูลลักษณะนี้สุดท้ายก็พบว่าผู้ที่ได้ไปก็ทำไม่ไหว หลายประเทศก็มีปัญหาว่าปล่อยไปในราคาที่ถูกเกินไป และบางประเทศก็พยายามไปจัดระบบจึงกลายเป็นว่ามีคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้อยู่จำนวนมาก จึงตอบยากว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดหรือไม่ แต่สนับสนุนว่าจะต้องเดิน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกือบสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่มีระบบ 3 จี"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ