กษ.แจงนโยบายสนับสนุนแปรรูปยาง หวังเพิ่มมูลค่าและรักษาเสถียรภาพราคายาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2010 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า จากปัญหาราคายางตกต่ำเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นนิติบุคคลกู้เงินจาก ธ.ก.ส. แบบไม่มีดอกเบี้ย จำนวน 8,000 ล้านบาท จัดซื้อผลผลิตยางทั้งยางแผ่นดิบ น้ำยางสด จากสมาชิก และเมื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ ยางแท่ง และน้ำยางสด นำมาเก็บรักษาเพื่อลดปริมาณการผลิตยางพาราลงจำนวน 2 แสนตัน เพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น

เบื้องต้นมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องหลักเกณฑ์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น โดยให้องค์การสวนยางรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรได้โดยตรง ทำให้สถาบันเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างเป็นระบบและครบวงจร อาทิ การประสานความร่วมมือและการทำข้อตกลงร่วมกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในการสร้างเสถียรภาพราคา การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราปี 2553 — 2556 โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิตยางแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และพัฒนาการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 250 ก.ก./ไร่/ปี เป็น 300 ก.ก./ไร่/ปี การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เพื่อลดการส่งออกยางดิบไปต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราให้สูงขึ้น

นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อนได้ปลูกยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ และให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารามีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ โดยรัฐจะให้การสนับสนุนต้นกล้ายางไร่ละ 90 ต้น ปุ๋ยและค่าแรงงานเป็นเวลา 7 ปี

อีกทั้งการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) ซึ่งเป็นเงินที่จัดเก็บจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร เพื่อนำเข้ากองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสงเคราะห์ปลูกแทน และการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 โดยจะปรับอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้สัมพันธ์กับราคายางเป็น 5 ระดับ คือ ราคายางไม่เกิน กก. ละ 40 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรา กก. ละ 90 สตางค์ ราคายางเกิน กก. ละ 40 บาท แต่ไม่เกิน กก. ละ 60 บาท เก็บในอัตรา กก. ละ 1.40 บาท ราคายางเกิน กก. ละ 60 บาท แต่ไม่เกิน กก. ละ 80 บาท เก็บในอัตรา กก. ละ 2 บาท ราคายางเกิน กก. ละ 80 บาท แต่ไม่เกิน กก. ละ 100 บาท เก็บในอัตรา กก. ละ 3 บาท และราคายางเกิน กก. ละ 100 บาท เก็บในอัตรา กก. ละ 5 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ