ก.เกษตรฯวางแนวทางพัฒนาเกษตรตปท. 4 ด้าน ดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรต่างประเทศ ด้วยมาตรการและกำหนดท่าทีเกี่ยวกับการเกษตรต่างประเทศ และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎระเบียบด้านการค้า การลงทุนของโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาพรวมในการพัฒนาการเกษตรของไทย

สำหรับแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างประเทศในสถานการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการค้าสินค้าเกษตร ประกอบด้วย การดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ การเจรจาสินค้าเกษตร และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตร โดยในส่วนของภาคการส่งออกจะมุ่งเน้นการเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดเรื่องมาตรการ กีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีรูปแบบต่างๆ ทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยภาครัฐจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ นอกจากนั้น ยังจะมีการกำหนดมาตรฐานและระบบตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าที่เป็นสากล ตลอดจนผลักดันให้ภาคเอกชนและหน่วยงานรับผิดชอบ จัดตั้งศูนย์การกระจายผลิตผลเกษตรและอาหารไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญ ส่วนภาคการนำเข้า เน้นมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบ การนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดปกติ พร้อมทั้งกำหนดกลไกที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์สินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี

ด้านการลงทุนภาคการเกษตร ประกอบด้วยมาตรการตั้งรับการลงทุนด้านการเกษตรจากต่างประเทศ และมาตรการเชิงรุกในการไปลงทุนต่างประเทศ โดยการลงทุนทางตรงภาคเกษตรจากต่างประเทศ จะศึกษาถึงข้อมูลการลงทุน และผลกระทบ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง เช่น การแปรรูป การเก็บเกี่ยว เพื่อสนับสนุนให้สินค้าเกษตรของไทยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่วนการไปลงทุนภาคการเกษตรของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ จะเน้นการศึกษาข้อมูลที่นักลงทุนไทยไปลงทุนด้านการเกษตรในต่างประเทศ ประเภท และศักยภาพในการขยายการลงทุน เพื่อเผยแพร่ให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศเกษตรกรรม รวมทั้งจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดทำและดำเนินแผนงาน/โครงการตามความตกลงและความร่วมมือภาคเกษตรที่ไทยได้จัดทำไว้กับประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวิชาการ นอกจากนี้ ยังจะเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต อาทิ ระบบชลประทาน การจัดการโรคระบาดในพืช-สัตว์ เทคโนโลยีสำหรับการแปรรูปผลผลิตการเกษตร ตลอดจนวางมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการประชาสัมพันธ์ในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนการดำเนินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย การศึกษา Carbon Footprint ในการผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจาสินค้าเกษตร

ด้านการบริหารจัดการ กระทรวงเกษตรฯ จะจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือกับต่างประเทศซึ่งมีอยู่แล้ว ให้สามารถติดตามงานในภาพรวมได้อย่างบูรณาการ โดยมอบหมายให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัย และสำรวจความต้องการผลิตผลการเกษตรและอาหารในต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการนำเข้าต่างๆ เพื่อรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศเพิ่มเติมในประเทศที่มีเป้าหมายเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐด้านการเกษตรต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างประเทศได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯเรียบร้อยแล้ว ก

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะนำข้อมูลทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวไปดำเนินการปรับปรุง แก้ไขเพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรต่างประเทศ และเนื่องจากแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างประเทศเป็นกรอบการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยราชการต่างๆหลายหน่วยงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามลำดับ เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการด้านการเกษตรต่างประเทศ ที่ครอบคลุมและเกิดความพร้อม ทั้งเชิงรับ เชิงรุก รวมถึงเป็นกรอบนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ