จับตาประชุมเฟดคืนนี้ นักวิเคราะห์คาดยังไม่มีประกาศใช้มาตรการ QE หลังข้อมูลศก.ยังเป็นบวก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 21, 2010 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมนโยบายในคืนนี้ (21 ก.ย.) ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประเมินว่าควรจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือ QE หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะยังไม่ริเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวในระยะนี้

นักวิเคราะห์มองว่า เฟดมีแรงกดดันน้อยลงหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวก รวมถึงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าการเลย์ออฟพนักงานเริ่มชะลอตัวลง ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยลดกระแสความวิตกกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่ และช่วยลดแรงกดดันให้กับเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด และคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ด้วย

มาตรการ QE คือการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) โดยในช่วงกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 2.551 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเข้าซื้อครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2552 โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เม็ดเงินไหลออกจากระบบการเงินของสหรัฐ

การดำเนินการของเฟดในครั้งนั้นถือเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่เฟดให้ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จะนำรายได้จากตราสารหนี้ MBS และตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (GSE) ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนั้น ไปซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ จากเดิมที่คณะกรรมการเฟดวางแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

นักวิเคราะห์คาดว่า นอกเหนือจากการที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0-0.25% ในการประชุมคืนนี้แล้ว เฟดจะยังคงรักษาฐานเงินทุนในพอร์ทฟอลิโอของเฟด หรือ System Open Market Account (SOMA) ให้อยู่ที่ระดับ 2.054 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่า แม้เฟดไม่ประกาศใช้มาตรการ QE ในการประชุมครั้งนี้ แต่คณะกรรมการเฟดก็อาจจะส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมที่จะใช้มาตรการดังกล่าวหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ ซึ่งการใช้มาตรการ QE จะช่วยให้ภาคสาธารณะและนักลงทุนเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นได้ และจะเป็นการเน้นย้ำท่าทีของเบอร์นันเก้ที่ได้ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า เฟดพร้อมที่จะเข้าซื้อตราสารหนี้ MBS และพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากพบว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด

ในด้านนักลงทุนนั้นต่างก็คาดหวังว่า คณะกรรมการเฟดจะส่งสัญญาณการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาบางด้าน ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นเมื่อคืนนี้ (20 ก.ย.) โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดจะใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนที่การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะมีขึ้นในวันที่ 2 พ.ย.นี้

การประชุมเฟดมีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงแล้วในเดือนมิ.ย.2552 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังไม่กลับสู่ภาวะปกติในขณะนี้ เนื่องจากสหรัฐยังเผชิญกับอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงมาก และภาวะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ปรับลดการประเมินอัตรการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2553 ลงเหลือ 1.6% จากที่ประเมินไว้ครั้งก่อนว่าขยายตัว 2.4% และเป็นสถิติที่ขยายตัวรายไตรมาสที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ