ผู้ว่า ธปท.แนะแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยลดความเสี่ยงโอกาสพลิกเป็นวิกฤติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 53 ของ ธปท.เรื่อง“ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า"ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับโลกและภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสสำหรับไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยจะช่วยเพิ่มยอดขายให้สินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีโอกาสด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งในฐานะผู้รับการลงทุนจากการที่ไทยจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งในและนอกภูมิภาคเพิ่มขึ้น และในฐานะผู้ลงทุน จากการที่ธุรกิจไทยมีช่องทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราได้รับอาจแปรเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงหรืออาจกลายเป็นวิกฤตของไทยก็ได้ หากเราไม่สามารถเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคต่างมีความตื่นตัวพร้อมก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยโอกาสที่กำลังมา ในขณะเดียวกันเงินทุนที่มีแนวโน้มไหลเข้าสูงอย่างต่อเนื่องนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่และปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ หากเราไม่มีการเตรียมการบริหารจัดการที่ดี

นางธาริษา กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าต้องมีแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม และเร่งเตรียมความพร้อมที่จะรับความเสี่ยง และสร้างโอกาสในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยต้องมองให้กว้างขึ้นไกลขึ้น และให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่ง สร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว มากกว่าการมองผลประโยชน์ระยะสั้น

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไปคือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยการการเร่งเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ที่ยังคงมีปัญหาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม, เร่งพัฒนาคุณภาพของสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยใน Global value chain เนื่องจากเราไม่สามารถพึ่งพิงแรงงานราคาถูกหรือเงินบาทอ่อนได้ตลอดไป

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 57 จะเร่งทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ ทุน และแรงงานทักษะ อย่างเสรีมากขึ้นในภูมิภาค หากไทยยังไม่รีบลงมือผลักดันการยกระดับความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่วันนี้ เราจะติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ที่เรียกว่า Middle income country trap ทำให้มีปัญหาอัตราการเจริญเติบโตช้า

ถึงเวลาที่ไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพอย่างจริงจัง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ จำเป็นต้องจัดหาแรงจูงใจให้กับธุรกิจเพียงพอให้เพิ่มการลงทุนและพัฒนาก้าวกระโดดไปสู่การผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้หลุดพ้นความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเราในวันนี้ยังมีปัญหาและอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของภูมิภาค และยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นับจากหลังวิกฤตปี 40 ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งปลดล็อคการลงทุน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จะต้องเร่งปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางอย่างทั่วถึงขึ้นและสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบสถาบันการเงินต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านพร้อมกันในระยะต่อไป โดยเฉพาะแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในทุกมิติ และจากทั้งในและนอกประเทศ ความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น เป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ รวมไปถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ และมีระยะเวลาต่อเนื่องไปถึงปี 2557 เมื่อแผนฯสิ้นสุดลง ธปท.คาดหวังว่าระบบสถาบันการเงินไทยจะมีคุณลักษณะ คือ ความมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อันดับที่สอง คือความเข้มแข็ง ปรับตัวได้เร็วและสามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ที่เข้ามากระทบ

และ อันดับที่สาม คือ ศักยภาพในการให้บริการที่มีความหลายหลาย และลึกขึ้น โดยสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง และมีการให้บริการที่เป็นธรรมและโปร่งใส

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ธปท.จะต้องเตรียมแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเสถียรภาพการเงินที่เพิ่มขึ้นและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ใหม่ ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลไกติดตามการก่อตัวของความไม่สมดุลทางการเงิน และตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ การพึ่งพาอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องทบทวนและหาแนวทางนำเครื่องมือการกำกับดูแลเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน หรือนโยบาย Macroprudential ซึ่งเราได้นำมาใช้บ้างอยู่แล้วในอดีตมาผสมผสานกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ และช่วยดูแลเสถียรภาพของภาคการเงินทั้งระบบมากขึ้น

สำหรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก็จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น จะต้องชั่งนำหนักให้ดีในการหาจุดสมดุลที่เหมาะสม ด้านหนึ่ง ต้องดูแลมิให้ผันผวนมากเกินไปในระยะสั้นจนเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ควรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

และที่สำคัญคือ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่จะต้องอาศัยการลงทุนมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรเตรียมแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อภาคเอกชนที่ต้องเผชิญการปรับตัวในระยะสั้น และพัฒนากลไกเอื้อให้ปรับโครงสร้างการผลิตระยะยาวควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการอีกเรื่อง คือ การปฏิรูปทางการคลัง แม้การดำเนินนโยบายการคลังอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพและสอดประสานกับนโยบายการเงิน จะมีส่วนช่วยยับยั้งวิกฤต และเป็นส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของไทย ในยามที่ภาคเอกชนอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาคการคลังของประเทศยังมีปัญหาด้านโครงสร้างซึ่งสมควรได้รับการปฏิรูป และรัฐบาลก็ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว

การปฏิรูปภาษีนั้น หมายความรวมถึง การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ การขยายฐานภาษี และการเพิ่มภาษีชนิดใหม่ๆ ซึ่งอาจเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนบ้างในระยะสั้น โดยบางท่านอาจต้องเสียภาษี จากเดิมที่ไม่เคยเสีย หรืออาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะช่วยลดภาระของทุกคนในระยะยาว เพิ่มความเป็นธรรมในสังคม และเสริมความแข็งแกร่งของฐานะการคลังโดยรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ