Analysis: วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยซ้ำเติมปัญหาช่องว่างคนรวย-คนจนในสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 22, 2010 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ในขณะที่ช่องว่างระหว่างการ "มี" และ "ไม่มี" ห่างไกลกันมากขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 30 ปีที่แล้ว ทำให้ความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ในขณะที่อัตราว่างงานยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับตัวเลขสองหลักและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงนั้น ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในสหรัฐกว้างออกไปอีก และอาจทำให้จำนวนครัวเรือนที่จะต้องเผชิญกับความยากจนนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย

ผลการสำรวจสัมมะโนประชากรของสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า จำนวนครัวเรือนที่ยากจนในสหรัฐพุ่งสูงขึ้น โดยการสำรวจในปี 2552 พบว่าในครัวเรือนทุกๆ 4 ครัวเรือนนั้น มี 1 ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 22,000 ดอลลาร์/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.2% จากปี 2551 และคาดว่าจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 22,000 ดอลลาร์/ปีจะเพิ่มขึ้นอีกหากเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก Phoenix Affluent Marketing Service ระบุว่า จำนวนคนรวยในสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ที่สามารถถ่ายโอนได้ 1 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% ในรอบ 12 เดือนที่สิ้นสุด ณ เดือนมิ.ย.ปีนี้

ในเรื่องนี้ อิสเบล ชอว์ฮิลล์ นักวิชาการจาก Brookings Institution แสดงทัศนะว่า "อัตราว่างงานที่สูงขึ้นในสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีทักษะและประสบการณ์ในการทำงานที่ต่ำ มากกว่าผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์ในการทำงานที่สูงกว่า ดังนั้นคุณจึงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนที่มีรายได้ต่ำอันเนื่องมาจากทักษะในการทำงานต่ำ แต่จะส่งผลกระทบน้อยกว่าต่อคนที่มีทักษะการทำงานที่สูงกว่า"

วิกฤตที่เลวร้ายที่สุดมาถึงหรือยัง?

เทสส์ สโตวอลล์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของบริษัท Third Way กล่าวว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้และจะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถหางานดีๆทำได้ หากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติในปีหน้า หรือแม้แต่ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางก็จะ "รู้สึก" ยากจนลง แม้ในทางกายภาพแล้วพวกเขายังไม่ถึงกับยากจนก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะความมั่งคั่งของพวกเขาร่อยหรอลงอย่างมากในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยมีรายงานว่า ความมั่งคั่งของชาวอเมริกันลดลงเกือบ 26% ในช่วงที่สหรัฐเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย และแม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในปีที่แล้ว แต่ความมั่งคั่งของชาวอเมริกันกลับลดลงไปเกือบ 19%

สโตวอลล์กล่าวว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับสู่สภาวะปกติ ก็อาจทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางต้องดิ้นรนอย่างหนักในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรหลานให้มีคุณภาพทั้งในด้านการศึกษาและสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในช่วงที่เกษียณงาน

จะโทษใครดีระหว่าง บุช และ โอบามา?

คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า รัฐบาลมีส่วนที่ทำให้ช่องว่างระหว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้นในสหรัฐหรือไม่? สำหรับประเด็นนี้ สโตวอลล์กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีเป้าหมายหลักคือการลดภาษีให้กับคนรวย ในขณะที่เพิกเฉยต่อการริเริ่มโครงการดีๆเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่นโยบายของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กลับพยายายามลดอัตราคนยากจนด้วยการจัดตั้งโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คนจนหรือคนที่มีแนวโน้มจะยากจน

ขณะที่ดาเนียล มิทเชลล์ นักวิชาการจาก Cato Institute กล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีบุชเป็นตัวตั้งตัวตีในการเพิ่มขนาดของรัฐบาล จึงทำให้สหรัฐเผชิญกับความยากลำบากในการผลักดันเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง แต่ประธานาธิบดีโอบามาก็ทำอย่างเดียวกัน

"นโยบายต่างๆของโอบามาจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างย่ำแย่ลงไปอีกเพราะนโยบายเหล่านั้นอยู่บนโครงสร้างเดิมที่บุชก่อร่างไว้ สิ่งที่แตกต่างมีเพียงอย่างเดียวคือบุชผลักดันการลดภาษีให้คนรวย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมมองว่า บุชทำให้เศรษฐกิจโดยรวมได้รับความเสียหาย และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ทุกระดับ และโอบามาก็รับไม้ต่อเพื่อทำในสิ่งเดียวกัน" มิทเชลล์กล่าว

บทความโดย แมทธิว รุสลิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ