เกษตรฯ คาดแนวโน้มส่งออกสินค้าเกษตรสิ้นปี53 ยังดี หลัง 8 เดือนโต 21.67%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2553 มูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดรวม 4,047,974.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 24.31 สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรเดือนมกราคม- สิงหาคม 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวม 716,145.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 21.67 โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง น้ำตาลดิบ ยางพารา เนื้อไก่ และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงได้แก่ ข้าว และผลิตภัณฑ์สับปะรด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลแล้วคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยจนถึงสิ้นปี 2553 จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าอย่างแน่นอน

โดยเมื่อจำแนกการส่งออกเป็นรายสินค้าสำคัญ จำนวน 6 กลุ่มสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 มีรายละเอียดดังนี้ 1) การส่งออกข้าว แบ่งออกเป็น ‘ข้าวรวม’ ส่งออกได้ 5.206 ล้านตัน มูลค่า 100,061 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีผ่านมา ที่ส่งออกได้ 5.751 ล้านตัน มูลค่า 113,340 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 9.47 และ 11.72 ตามลำดับ เนื่องจากเวียดนามลดค่าเงินดองในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และมีการลดราคาข้าว 5% และ ข้าว 25% สองครั้งในเดือน เมษายน 2553 ครั้งละ 20 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยเกือบ 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน ส่งผลให้ลูกค้าข้าวในตลาดเอเชีย เปลี่ยนไปซื้อข้าวจากเวียดนามแทน

สำหรับในเดือนสิงหาคม 2553 ไทยส่งออกข้าวรวมได้ 0.626 ล้านตัน มูลค่า 11,325 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 0.531 ล้านตัน มูลค่า 9,754 ล้านบาท ของเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่วนการส่งออก ‘ข้าวหอมมะลิ’ ส่งออกได้ 1.434 ล้านตัน มูลค่า 38,139 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 1.769 ล้านตัน มูลค่า 44,649 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 18.92 และ 14.58 ตามลำดับ เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะปลายข้าวหอมมะลิ ส่งผลให้ลูกค้าแถบแอฟริกานำเข้าลดลง และหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน สำหรับการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมทั้งในด้านปริมาณ และมูลค่า

2) การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ปริมาณ 5.497 ล้านตัน มูลค่า 47,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 3.929 ล้านตัน มูลค่า 27,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.90 และ 72.32 ตามลำดับ เนื่องจากในปีนี้ผลผลิตลดลง แต่รัฐบาลได้ระบายสต๊อกของโครงการรับจำนำออกมาสู่ตลาด ส่งผลให้ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงต้นปี และความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้นำเข้าเกรงว่าประเทศไทยจะขาดแคลนหัวมันสำปะหลัง

สำหรับในเดือนสิงหาคม 2553 ปริมาณ 0.376 ล้านตัน มูลค่า 4,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าจากเดือนกรกฎาคม 2553 ปริมาณ 0.351 ล้านตัน มูลค่า 3,955 ล้านบาท หรือร้อยละ7.10 และ 10.28 ตามลำดับ เนื่องจาก ความต้องการของตลาดยังมีมาก ประกอบกับรัฐบาลยังคงระบายสต๊อกออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

3) การส่งออกน้ำตาล มีปริมาณส่งออกรวม 3.755 ล้านตัน มูลค่า 57,344 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 3.116 ล้านตัน มูลค่า 35,987 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.50 และ 59.35 ตามลำดับ ปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดภาวะตึงตัวของน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้ผู้ซื้อเร่งทำการส่งมอบน้ำตาล ส่วนมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลเดือนสิงหาคม 2553 ส่งออกน้ำตาล 0.149 ล้านตัน มูลค่า 2,328 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 ส่งออกน้ำตาล 0.349 ล้านตัน มูลค่า 5,116 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 57.24 และ 54.49 ตามลำดับ

4) การส่งออกยางพารา ไทยส่งออกยางพาราทั้งสิ้น 1.792 ล้านตัน มูลค่า 156,997 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 1.726 ล้านตัน มูลค่า 81,492ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.83 และ 92.65 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายางพาราที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเก็บเงินค่า cess เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยเร่งส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการส่งออกยางพาราเดือนสิงหาคม 2553 ส่งออก 0.242 ล้านตัน มูลค่า 21,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 0.221 ล้านตัน มูลค่า 20,201 ล้านบาท ของเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 9.51 และ 5.53 ตามลำดับ

5) การส่งออกไก่เนื้อปรุงแต่ง มีปริมาณส่งออกรวม 0.256 ล้านตัน มูลค่า 32,456 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.07 และ 5.07 ตามลำดับ โดยปริมาณและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากสหภาพยุโรปนำเข้าเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ประชาชนหันมาบริโภคโปรตีนจากไก่ที่มีราคาถูกกว่าโปรตีนชนิดอื่นเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการส่งออกเดือนสิงหาคม 2553 ส่งออกไก่เนื้อปรุงแต่ง 34,742 ตัน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ลดลงจาก 35,589 ตัน มูลค่า 4,576 ล้านบาท ของเดือนกรกฎาคม 2553 ร้อยละ 2.38 และ 1.66 ตามลำดับ

6) การส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณ 0.157 ล้านตัน มูลค่า 33,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.130 ล้านตัน มูลค่า 28,707 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.21 และ 16.03 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตกุ้งโดยรวมของโลกลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคกุ้งของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งเดือนสิงหาคมมีปริมาณ 21,977 ตัน มูลค่า 5,140 ล้านบาท ลดลงจากปริมาณ 23,008 ตัน มูลค่า 5,219 ล้านบาท ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 4.48 ร้อยละ 1.52 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ