ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง 5 มาตรการไม่ได้มีเป้าหมายมุ่งเน้นสกัดบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2010 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 5 มาตรการที่กระทรวงการคลังได้ประกาศออกมานั้น ตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวรับรู้รายละเอียดของ 5 มาตรการนี้ไปมากแล้ว ขณะที่ เนื้อหาของบางมาตรการเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการที่ธปท.ได้เสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมา

"5 มาตรการที่ได้รับการผ่อนคลาย น่าที่จะเป็นมาตรการที่มุ่งวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเอื้อประโยชน์ เพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่น ให้แก่ภาคเอกชนในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่มาตรการที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นสกัดการแข็งค่าของเงินบาท"

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่เปลี่ยนแปลงหากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยและต่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในระยะใกล้ๆ นี้ โดยหากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามคาด และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ขณะที่ ตลาดการเงินโลกน่าที่จะยังให้น้ำหนักกับความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เช่นเดิม (แต่โอกาสของการเกิด Double Dip Recession ยังอยู่ในระดับต่ำ)

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีโอกาสได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงได้อีกในระยะข้างหน้าจากการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รอบใหม่ (Quantitative Easing รอบ 2) ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปี 53 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแรงส่งต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แผ่วลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ เครือธนาคารกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าไปที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 53 นี้ และมีโอกาสขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 54

ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า คงต้องติดตามพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางดังกล่าว อาจเป็นตัวสะท้อนว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียจะมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้าหรือไม่ นอกจากนี้ คงต้องจับตามาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำมาใช้เพิ่มเติม ตามรายงานข่าวจะเป็นเรื่องการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการกลุ่มเดินเรือสามารถชำระค่าระวางเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้จากเดิมที่ต้องชำระเป็นเงินบาท ซึ่งอาจรวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรเงินบาทในรูปแบบอื่นๆ หากอัตราการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะท้อนความเสี่ยงของการลงทุนที่มีลักษณะเพื่อการเก็งกำไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ