นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย(KTAM)เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยรัสเซีย ฟิกซ์อินคัม 2 ตั้งแต่วันที่ 10-16 พ.ย.53 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุ 2 ปี 5 เดือน จ่ายผลตอบแทนคืนอัตโนมัติทุก 3 เดือน มูลค่าเงินลงทุนขึ้นต่ำ 10,000 บาท มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก ตราสารทางการเงินที่รัฐบาล องค์การ หน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนของประเทศรัสเซีย เป็นผู้ออก หรือผู้ค้ำประกัน
กองทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมุลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ทั่วไป ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด
จุดเด่นของกองทุนนี้ คือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศรัสเซีย ที่มีฐานะการคลัง และการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้กู้เป็นสถาบันการเงินหรือกิจการ ซึ่งภาครัฐของประเทศรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Government related firms)
กองทุนจะลงทุนผ่านตราสารประเภท Loan Participation Note สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครืองมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมของกิจการในรัสเซียเพื่อใช้ระดมเงินทุนจากต่างประเทศ และตราสารที่ลงทุนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับผู้กู้เหล่านี้ และระดับเดียวกับประเทศรัสเซียที่ BBB โดย S&P สำหรับตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนในสัดส่วนสถาบันละ 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประกอบไปด้วย 1) Russian Agricultural Bank (Baa1 โดย Moody) เป็นธนาคารภาครัฐเพื่อสนับสนุนภาคเกษตร 2) SBER Bank (Baa1) เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของรัสเซีย 3) Gazprom (Baa1) เป็นกิจการพลังงานครอบครองก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 17% ของโลก และ 4 ) Transneft (Baa1) เป็นกิจการผูกขาดระบบขนส่งน้ำมันผ่านท่อรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 3.30% ต่อปี พร้อมทั้ง มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า ผลพวงจากการที่ FOMC ของสหรัฐฯ ประกาศจะใช้เม็ดเงินที่จะใช้ในโปรแกรม QE II ประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในไตรมาส 2/54 เป็นระดับที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจากผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ในส่วนของผลกระทบที่มีต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีความต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตราสารหนี้รัฐวิสากิจและเอกชน ทำให้ Credit Spread ปรับแคบลงค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับลดลง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมดอลล่าร์สหรัฐฯ ในตลาดสวอปปรับลดลง ดังนั้น จึงทำให้ผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนในตราสารต่างประเทศปรับลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ