(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิต CIMBT และปรับเพิ่มแนวโน้มเครดิตเป็นบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 30, 2010 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ที่ ‘A+(tha)’ อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ที่ 'A-(tha)' อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ที่ระดับ ‘2’ พร้อมปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิมมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ CIMBT สะท้อนถึงการที่ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) เข้าถือหุ้นเกือบทั้งหมดและและความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการสนับสนุนจาก CIMB ในกรณีที่มีความจำเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกสะท้อนถึงการที่ธนาคารได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของ CIMB มากขึ้น และระดับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งขึ้นโดยเห็นได้จากการเพิ่มทุนของ CIMB เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง ส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ CIMBT มีความสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกของ CIMB

CIMBT มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 หลังจากที่ผลประกอบการของธนาคารได้เริ่มปรับตัวเป็นบวกได้ในปี 2552 หลังจากต้องเผชิญกับการขาดทุนจำนวนมากในปี 2550-51 เนื่องจากการตัดขาดทุนของเงินลงทุนในตราสารประเภท CDO ผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มาจากระดับของการสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง อัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและการลดลงของต้นทุนทางการเงิน ซึ่งทำให้ ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) อยู่ที่ระดับ 0.9% และ 14% ตามลำดับ CIMBT ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนจำนวน 3.0 พันล้านบาทเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม โดยฟิทช์คาดว่าจะทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ อัตราส่วนเงินกองทุนรวมเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 9% และ 15% ตามลำดับ (จากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 6.7% และ 12.4% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของธนาคารในช่วงที่สภาวะของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้นและช่วยป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจได้

คุณภาพสินทรัพย์ของ CIMBT ปรับตัวดีขึ้น โดย CIMBT มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงมาที่ 7.7 พันล้านบาท หรือ 8.4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (เทียบกับ 1.25 หมื่นล้านบาท หรือ 14.45% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) ซึ่งเกิดจากการไม่นับรวมส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ของธนาคารซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการขายออกให้กับทางกลุ่ม CIMB ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2553 อย่างไรก็ตาม CIMBT ยังคงมีระดับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษในระดับสูงมากที่ 8.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 63.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 เทียบกับอัตราส่วนเฉลี่ยของภาคธนาคารโดยรวมที่ 80% และการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยประเภทที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นอาจทำให้ CIMBT ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นได้ CIMBT มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารเพื่อใช้แทนเงินฝาก) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 98% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ซึ่งค่อนข้างสูงเทียบกับ 88% ณ สิ้นปี 2552 อย่างไรก็ตาม CIMB ได้ให้การสนับสนุนแก่ CIMBT อย่างต่อเนื่องในด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่อง

การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตของ CIMBT จะเกิดขึ้นในกรณีที่อันดับเครดิตสากลของ CIMB ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น อันดับเครดิตของ CIMBT สะท้อนถึงการที่ CIMB ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการบริหาร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ CIMB หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ CIMBT ได้ นอกจากนี้หากมีการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไร คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน อาจส่งให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT ปรับขึ้นได้

อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ CIMBT เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของจัดอันดับเครดิตประเภทดังกล่าวของฟิทช์ โดยอันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 2 อันดับจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของ CIMBT ซึ่งอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงระดับของการให้การสนับสนุนจาก CIMB โดยในกรณีที่ CIMBT ไม่มีกำไรจากการดำเนินงาน ธนาคารสามารถเลือกที่จะเลื่อนชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ดังกล่าวออกไปได้ อย่างไรก็ตามทาง CIMB ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้ CIMBT สามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนได้หากจำเป็น อย่างไรก็ตามในกรณีที่การชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาทำให้ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 0% หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซง จะเป็นกรณีที่บังคับให้ CIMBT เลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีค่อนข้างน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ