ฟิทช์คงอันดับเครดิต KEST ที่ ‘F1(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 15, 2010 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศที่ ‘F1(tha)’ ของบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศโปรแกรมตั๋วแลกเงินซึ่งสามารถออกเพื่อหมุนเวียนใหม่ได้อายุไม่เกิน 270 วัน มูลค่าไม่เกิน 2.0 พันล้านบาท ของ KEST ที่ระดับ ‘F1(tha)’

อันดับเครดิตของ KEST สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่คือบริษัทกิมเอ็งโฮลดิ้งส์ จำกัด ในสิงคโปร์ หรือ KEH และสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท KEST ยังคงดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยเน้นการทำธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถมีเสถียรภาพของผลการดำเนินงานแม้ว่าต้องเผชิญกับสภาวะธุรกิจจะมีความผันผวน ส่วนความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนด้านตลาด (Market Risk) ยังมีอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก KEST มีการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวบริษัทเองในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามการที่บริษัทเริ่มขยายธุรกิจ derivative warrants และมีแผนขยายการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวบริษัทเองมากขึ้นในอนาคตอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ KEST เนื่องจากความสามารถในรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่ง การสนับสนุนที่มีอย่างต่อเนื่องจาก KEH และระดับของสถานะเงินทุนที่ยังคงแข็งแกร่ง อันดับเครดิตภายในประเทศของ KEST อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หาก KEST มีการขยายเครือข่ายธุรกิจที่ต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และ/หรือ การถือหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ KEH จาก 55.9% หรือระดับของการร่วมดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นกับ KEH ในขณะที่ การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับเงินทุนหรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราส่วนหนี้สินซึ่งเป็นผลจากนโยบายขยายธุรกิจเชิงรุกอาจมีผลกระทบในทางลบกับอันดับเครดิตได้

ผลการดำเนินงานของ KEST ยังคงแข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเสรีค่านายหน้าธุรกิจค้าหลักทรัพย์มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 KEST มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 564 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (เทียบกับ 520 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552) อันเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 2553 KEST ยังคงมีอัตราส่วนกำไรที่แข็งแกร่ง โดยมี ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) ที่ 9.3% และ 17.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 KEST มีรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นรายได้หลัก โดยมีสัดส่วน 88% ของรายได้ทั้งหมดใน 9 เดือนแรกของปี 2553 (88% ในปี 2552) ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2554 น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของ KEST ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2554

อย่างไรก็ตาม KEST มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ที่สูงและมากกว่าคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้ารายย่อยมากกว่า สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท หรือประมาณ 97% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 สูงขึ้นเทียบกับระดับกว่า 2.0 พันล้านบาท ในปี 2552 หรือประมาณ 45% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเกิดจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางด้านเครดิตยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากความเสี่ยงได้ถูกลดทอนลงโดยการเรียกหลักทรัพย์เพิ่มและการบังคับขายหลักทรัพย์ ลูกหนี้ด้อยคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ยังอยู่ในระดับคงที่ 291 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 หรือ 3.4% ของสินเชื่อซื้อขายหลักทรัพย์รวม ซึ่งสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนนี้ได้มีการตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว

สภาพคล่องของ KEST อ่อนแอลงโดยมีอัตราส่วนของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงต่อสินทรัพย์รวมลดลงมาที่ระดับ 5% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 จาก 32% ณ สิ้นปี 2552 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ถูกลดทอนลงจากการที่ KEST มีวงเงินสนับสนุนด้านสภาพคล่องจาก KEH และยังได้รับวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากสถาบันการเงินในประเทศ โดยมียอดที่สามารถเบิกใช้ได้คงเหลือจำนวน 1.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 รวมถึงความสามารถของ KEST ในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศเมื่อต้องการ

เงินทุนในการประกอบธุรกิจของ KEST มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ในขณะที่หนี้สินส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ส่วนของผู้ถือหุ้นของ KEST มีคุณภาพสูงซึ่งประกอบด้วยส่วนทุนที่ชำระแล้วเป็นหลัก อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งถึงแม้จะลดลงมาอยู่ที่ 44.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2553 เทียบกับ 63.6% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากยอดลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 วันทำการสุดท้ายในเดือนกันยายนปี 2553 เทียบกับปี 2552 อัตราส่วนเงินกองทุน (NCR) ของบริษัทลดลงมาที่ 97.4% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 จาก 147% ณ สิ้นปี 2552 แต่ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระดับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 7% สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ