PTL มีแผนเพิ่มสายการผลิตฟิล์มซิลิกอนในปลายปีนี้ หวังเพิ่มมาร์จิ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 16, 2011 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรฮิท กุมาร์ วาฮิททรา กรรมการผู้จัดการ บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL กล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มสายการผลิตใหม่สำหรับฟิล์มซิลิกอน ทำให้สัดส่วนของสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีทีผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ฟิล์มอัดขึ้นรูป “Extrusion Film", ฟิล์ม CPP

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการลงทุนโครงการผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนา มูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จใน 2 ปี โดยจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีความต้องการอย่างสูงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า, อิเลคทรอนิกส์, แผงพลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่จำกัด เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิม อีกทั้งแผ่นฟิล์มชนิดหนาสามารถสร้างส่วนต่างกำไรได้สูงกว่าและเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งจะช่วยสร้างกำไรให้บริษัท ฯ ได้ในระยะยาว" นาย วาฮิททรา กล่าว

สำหรับเงินลงทุน 2.3 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท ฯ และบางส่วนจะมาจากเงินกู้ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์จัดเป็นกลยุทธ์วางตำแหน่งทางการตลาดใหม่ในระยะยาว ที่จะเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยเปลี่ยนจากการเน้นเซ็กเมนต์บรรจุภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูงเป็นหลักไปสู่เซ็กเมนต์อุตสาหกรรม

รวมทั้งเป็นการเสริมให้โพลีเพล็กซ์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สำหรับแผ่นฟิล์มชนิดหนาแบบดั้งเดิม และมีการใช้แผ่นฟิล์มชนิดบางในการผลิต จอ LCD/LED TV และทัชสกรีน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอินเดียออกกฎห้ามใช้แผ่นพลาสติกฟิล์มในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร นายวาฮิททรา ให้ความเห็นว่า ประกาศดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการจำกัดการใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ในอาหารทุกชนิด แต่เป็นการบังคับใช้กับใบยาสูบแห้งแต่งกลิ่นรสสำหรับเคี้ยว(chewing tobacco) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและตุรกี โดยเห็นว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องและประโยชน์ที่หลากหลายของ PET ที่จะยังคงมีพัฒนาการต่อไปอีกจะช่วยทดแทนการลดลงของความต้องการในผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จากการดำเนินการดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ