(เพิ่มเติม) "ไอร่า แคปปิตอล"จับมือกลุ่มซัมมิทเทคฯ DM,พร้อมมองหาซื้อบลจ.-ลีสซิ่งต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 28, 2011 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มไอร่า ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อการลงทุนในธุรกิจการเงิน ลั่นสนใจเข้าซื้อกิจการบริษัทจัดการลงทุน(บลจ.)และบริษัทลีสซิ่งเพิ่มเติม รวมทั้งมองโอกาสทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หลังจากร่วมกับกลุ่มซัมมิทเข้าซื้อกิจการ บมจ.ธนมิตร แฟคตอริ่ง(DM) โดยมีเป้าหมายเข้าถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน 65:35 หลังจากเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายได้แล้ว 57.35% ซึ่งจะเริ่มทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์วันที่ 9 มี.ค.54 ที่ 24 บาท/หุ้น

บริษัทคาดว่าจะใช้เงินในการซื้ออหุ้น DM ในครั้งนี้ประมาณ 312 ล้านบาท คาดว่ากระบวนการซื้อหุ้นทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน เม.ย. โดยมีบริษัท ไอร่า แอดไวเซอรี่ เป็นที่ปรึกษา โดยยืนยันว่าหลังการเข้าซื้อกิจการ DM แล้ว ไม่มีนโยบายที่จะเพิกถอน DM ออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัท และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท

ทั้งนี้ ไอร่า แคปปิตอล เข้าซื้อหุ้น DM มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตการบริการทางการเงินและเพิ่มธุรกรรมทางการเงินไปยังธุรกิจประเภทอื่น ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจแฟคตอริ่งเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นในการสนับสนุนบริษัทหรือผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีศักยภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น

การเข้าซื้อหุ้น DM เป็นการซื้อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทั้งกลุ่มวิจราธิวัฒน์และธนาคารไทยพาณิชย์แบบพันธมิตร 11.41 ล้านหุ้น คิดเป็น 57.35% ผ่านกระดานบิ๊กล็อต ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมยังคงตกลงจะให้ความสนับสนุนทางธุรกิจต่อไป เนื่องจากฐานลูกค้าบางส่วนอยู่ในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันที่มีการใช้บริการแฟคตอริ่ง

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มปริมาณธุรกรรมในอนาคต บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัท ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ในการพัฒนาฐานลูกค้าแฟคตอริ่งในธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ดังนั้นจากการผสมผสานการดำเนินธุรกิจแฟคตอริ่งในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ จึงเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจจะขยายตัวอย่างมั่นคงต่อไป

นางนลินี กล่าวว่า บริษัทยังให้ความสนใจเข้าซื้อกิจการ บลจ.และลีสซิ่ง โดยต้องการเข้าถือหุ้นมากกว่า 50% ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้เข้าเจรจากับรายใด ซึงการคืนทุนจะอยู่ในช่วง 3 ปีขึ้นไป และมองโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดโอกาสให้ขออนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ แต่จะไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

"วัตถุประสงค์ในการลงทุนใน DM เพื่อลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภท ...สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่สามารถบอกได้ว่าการเข้าซื้อกิจการ บลจ.หรือลีสซิ่งจะทำได้ในปีนี้หรือปีหน้า"นางนลินี กล่าว

การที่บริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจสถาบันการเงิน เพราะยังมั่นใจว่าสถาบันการเงินในประเทศไม่มีโอกาสล้มเหมือนในอดีต ถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง และมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีก ซึ่งหากมีธุรกิจทั้งตลาดเงินและตลาดทุนรวมกันก็จะเอื้ออำนวยธุรกิจต่อกัน ขณะเดียวกันมองว่าไม่ต้องการให้ทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการในสถาบันการเงินของไทย เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันการเงินไทยมาก ดังนั้น การที่บริษัทขยายธุรกิจครั้งนี้จะเชิญพันธมิตรรายใหญ่เข้ามาร่วมด้วย

ส่วนแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ที่ผ่านมาได้เลื่อนแผนมาตลอด เพราะอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างในกการเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อนำ บริษัท ไอรา แคปปิตอล เข้าจดทะเบียนในไตรมาส 1/55 ซึ่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 779 ล้านบาท

นายวิวัฒน์ คงคาลัย กรรมการผู้จัดการ DM กล่าวว่า ในปี 54 บริษัทตั้งเป้ามีรายได้และปริมาณธุรกิจเติบโต 20-30% จากปี 53 ที่มีรายได้ 140 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง 3 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 53 ที่มีพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้

ปัจจุบัน DM ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเซ็นทรัลและค้าปลีก 65% ธนาคารพาณิชย์ 10% และธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ 10% ซึ่งภายหลังความร่วมมือที่จะมีกลุ่มซัมมิทเข้ามาถือหุ้นจะช่วยเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มเป็น 50% ภายใน 2 ปี บริษัทมีจุดเด่นคือมีฐานธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มซัมมิท ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งในแง่ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีก ชิ้นส่วนยานยนต์ และมีความบริหารความเสี่ยงพร้อม เห็นได้ว่าบริษัทมีหนี้เสียน้อยมาก โดยสิ้นปี 53 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพียง 1.5 ล้านบาท และขณะนี้อุตสาหกรรมแฟคตอริ่งมีการเติบโตต่อเนื่องตามธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คู่แข่งทางธุรกิจมีน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ