ฟิทช์ปรับลดแนวโน้มเครดิต FNS เป็นลบ-คงอันดับเครดิตในประเทศ BBB(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 12, 2011 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (Long Term National Rating) ของบมจ.ฟินันซ่า(FNS)เป็นลบจากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘BBB(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F3(tha)’

การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงสถานะทางการเงินเฉพาะของบริษัทที่มีระดับหนี้สินเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่ด้อยลงของกลุ่ม อีกทั้งระดับของเงินกองทุนของกลุ่มยังลดลงเนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอใน 5 ปีที่ผ่านมา และฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก อีกทั้งอาจได้รับผลกระทบจากสภาพความผันผวนของภาวะตลาดทุน

ในส่วนของสถานะทางการเงินเฉพาะของบริษัท ระดับหนี้สินของ FNS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.25 เท่า ณ สิ้นปี 2553 เทียบกับ 1.19 เท่า ณ สิ้นปี 2552 และ 0.67 เท่า ณ สิ้นปี 2551 ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อหนี้สินระยะสั้นปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.6% ณ สิ้นปี 2553 เทียบกับ 2.4% ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกและบริษัทร่วมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับที่สูง และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 186% ณ สิ้นปี 2553 เทียบกับ 165% ณ สิ้นปี 2552 แสดงถึงการที่มีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาลงทุนในบริษัทในเครือ

อันดับเครดิตของ FNS ได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านบวกที่เกิดจากการที่บริษัทได้หยุดดำเนินธุรกิจสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตยังคงถูกจำกัดโดยผลประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความสามารถในการระดมทุนที่อ่อนแอ เนื่องจากการพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นในตลาดและการกู้ยืมจากบริษัทในเครือ

อันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลง หากผลประกอบการปรับตัวในทิศทางที่อ่อนแอลงจนมีผลกระทบต่อระดับของเงินกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งระดับของหนี้สินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีสภาพคล่องที่ด้อยลงทั้งในระดับของกลุ่มและFNS ขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับเป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพได้ หากผลประกอบการของกลุ่มมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้สภาพคล่องและระดับของหนี้สินของ FNS มีการปรับตัวดีขึ้น

ลักษณะการประกอบธุรกิจของ FNS ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก หลังจากการควบรวมธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์อีกสองแห่งในตลาด การยกเลิกธุรกิจสินเชื่อและการปิดกิจการที่ไม่มีความสำคัญ รวมทั้งล่าสุดได้มีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมิได้เป็นรูปแบบของธุรกิจที่ให้บริการทางการเงิน ในระยะยาวธุรกิจการบริหารกองทุนและวานิชธนกิจน่าจะเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม

ในปี 2553 FNS ฟื้นตัวด้วยผลกำไรจำนวนเล็กน้อยที่ 7.8 ล้านบาท หลังจากที่มีการประกาศผลประกอบการขาดทุนเป็นเวลา 4 ปีโดยมีสาเหตุหลักมาจากรายจ่ายที่ปรับตัวลดลงและการบันทึกกลับเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ แม้รายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจมีสัดส่วนสูงที่สุดในปี 2553 แต่น่าจะยังคงผันผวนเนื่องจากสภาวะความผันผวนของตลาดทุน

เงินทุนส่วนใหญ่ของ FNS เป็นเงินทุนระยะสั้น ประกอบด้วยตั๋วแลกเงินที่ออกให้แก่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ และรายย่อยซึ่งโดยทั่วไปมีการต่ออายุเมื่อครบกำหนด อย่างไรก็ตามจำนวนของตั๋วแลกเงินที่ออกได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะที่ระดับสภาพคล่องของกลุ่มยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อหนี้สินระยะสั้นอยู่ที่ 97% และ สินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียนอยู่ที่ 1.3 เท่า ณ สิ้นปี 2553

นอกจากนี้ระดับเงินกองทุนของกลุ่มยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอและมีเสถียรภาพ หลังจากที่มีการปรับตัวลดลงอย่างมากเนื่องจากการประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2549-2553 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ได้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 72% ณ สิ้นปี 2553 จาก 65% ณ สิ้นปี 2552 (ในอดีตอยู่ที่ระดับ 30%) แต่ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากพอร์ตสินเชื่อและเงินลงทุนที่ปรับตัวลดลง

FNS ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยอดีตผู้บริหารของ Chase Manhattan (Thailand) FNS มีธุรกิจหลักที่ให้บริการด้านการบริหารกองทุน นายหน้าค้าขายหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจ โดยดำเนินงานผ่านบริษัทลูกและบริษัทร่วม ปัจจุบันผู้บริหารถือหุ้นในบริษัทเกินกว่า 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ