ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กแรงเทขายฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 240.60 จุด เหตุวิตกเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday October 1, 2011 07:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงปิดที่ระดับต่ำกว่า 11,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ เมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) และปิดท้ายไตรมาสเดือนกันยายนด้วยการอ่อนตัวลงเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วง 240.60 จุด หรือ 2.16% ปิดที่ 10,913.38 จุด ดัชนี S&P 500 ทรุด 28.98 จุด หรือ 2.50% ปิดที่ 1,131.42 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่ง 65.36 จุด หรือ 2.63% ปิดที่ 2,415.40 จุด

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ช่วงท้ายเดือนก.ย.ไต่ขึ้นสู่ระดับ 59.4 ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 57.8

ขณะที่สมาคมผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อแห่งชาติ (NAPM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 60.4 ในเดือนก.ย. จาก 56.5 ในเดือนส.ค.

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐจะออกมาดีกว่าคาด แต่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผลักดันให้นักลงทุนส่งแรงเทขาย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดเผชิญกับแรงกดดันท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อันเนื่องมาจากนักลงทุนมองว่าเป็นเรื่องยากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากราคาผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นสูงเกินคาดในยูโรโซน

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า เงินเฟ้อยูโรโซนเดือนก.ย.ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปเผชิญความลำบากยิ่งขึ้นในการแก้ไขวิกฤตหนี้ในภูมิภาค

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 17 ประเทศ พุ่งขึ้นแตะ 3% ในเดือนก.ย. จากระดับ 2.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนชะงักงันยังได้กระตุ้นแรงขายด้วย โดยเอชเอสบีซีเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนก.ย.ทรงตัวอยู่ที่ 49.9 จุด ซึ่งดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 จุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวลง

ภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงหลังจากที่ธนาคารกลางจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และยังใช้มาตรการควบคุมในด้านอื่นๆ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

ขณะเดียวกันรายงานที่ได้รับการเปิดเผยในวันเดียวกันแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคของสหรัฐจำกัดการใช้จ่ายเพราะรายได้ที่ลดลง โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคขยับขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.ค. ขณะที่รายได้ลดลง 0.1% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2552

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แรงเทขายเมื่อวันศุกร์ยังเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต้องการทำกำไรและปรับพอร์ทการลงทุนเพราะเป็นวันสุดท้ายของไตรมาสแล้ว

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นสหรัฐปิดท้ายไตรมาสได้แย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากนักลงทุนขาดแรงจูงใจเข้าซื้อหุ้นท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่มืดมน และวิกฤตหนี้ยุโรป

ไตรมาสที่ผ่านมาถือเป็นหายนะสำหรับวอลล์สตรีท โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงประมาณ 12% ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ร่วง 14% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เมื่อเศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะถดถอยและวิกฤตการเงินรุนแรงที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ