นายกฤตพงศ์ อรชัยพันธ์ลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทาคูนิ กรุ๊ป [TAKUNI] เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่ดี จากนโยบายการอุดหนุนของภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นอุตสาหกรรมรวม แต่การขยายตัวจะมาจากความเชื่อมั่นในแบรนด์ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการบริการหลังการขายที่รวดเร็วและครอบคลุม
"ตลาดรถ EV ในไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เริ่มมีแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้ามา ซึ่ง 1-2 ปีนี้จะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากตลาดขยายตัวขึ้นและสินค้าเริ่มติดตลาด ผู้ผลิตและจัดหน่ายอื่นๆ ก็จะกล้ามาลงทุนเพิ่ม ซึ่งส่งผลดีกับผู้บริโภค แต่ถ้าจะให้มองว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถเข้ามาทดแทนในส่วนของรถน้ำมัน คาดว่าถ้าจะให้ถึง 50% หรือประมาณ 9 แสนคันจากประมาณ 1.8 ล้านคัน มองว่าประมาณอีก 10 ปีถึงจะเป็นไปได้ ส่วนอีก 2 ปีข้างก็คิดว่าน่าจะทดแทนได้เต็มที่คงไม่เกิน 10% และขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีส่วนแบ่งการตลาดเท่าไหร่"นายกฤตพงศ์กล่าว
นายกฤตพงศ์ กล่าวว่า ในส่วน ธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของกลุ่ม TAKUNI ตามแผนเดิมอาจล่าช้าออกไปบ้าง เพราะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยทั้งในส่วนของตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เติบโตช้ากว่าที่คิด และการหาพันธมิตรเพื่อสอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งทุกอย่างเริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ ปัญหาที่ทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด มาจากระยะทาง ราคา และสถานีชาร์จหรือสถานีสลับแบตเตอรี่ยังไม่รองรับการใช้งาน แม้แต่ในกรุงเทพฯเองก็ตาม แม้จะมีระบบรองรับแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ซึ่งแม้ยอดขายในกรุงเทพฯจะมีร่วม 20,000 คัน แต่เทียบกับ 1,800,000 คันของยอดขายมอเตอร์ไซค์ทั้งหมด ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ไม่นับว่ายังต้องแบ่งมาร์เก็ตแชร์กับแบรนด์อื่นๆ อีก ด้วยจำนวนนี้คงยังไม่ใช่ New S Curve ที่ทาคูนิต้องการ ฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่หมด
แผนงานที่ทางกลุ่ม TAKUNI มองเห็นชัดเจน กลายเป็นว่าต่างจังหวัดนิยมรถจักรยานไฟฟ้าค่อนข้างมาก พบว่าตลาดกลุ่มนี้มียอดขายมากกว่า 200,000 คันต่อปี โดยราคาจะอยู่ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงประมาณคันละ 45,000 บาทตามแต่คุณภาพของสินค้า ซึ่งด้วยข้อมูลตรงนี้ทำให้เรามองว่าตลาดตรงนี้มีทั้งขนาดและศักยภาพที่ทางเรามองหา ดังนั้น เราจะเริ่มต้นด้วยการทำตลาดจักรยานไฟฟ้าก่อนเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และราคาไม่ได้สูงนัก แม้ว่าเทลจี (TAILG) จะเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก แต่ก็ยังค่อนข้างใหม่ในไทย จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ของตัวแบรนด์ผ่านสินค้า ช่องทางจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้เห็นและเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการหลังการขายต้องมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อให้ลูกค้าของเราได้รับประสบการณ์และบอกต่อประสบการณ์ที่ดีที่มีต่อแบรนด์
นายกฤตพงศ์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกจะกระจายรถจักรยานไฟฟ้าในราคาที่เข้าถึงได้ก่อน โดยเบื้องต้นจะเน้นกระจายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายและเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายมีเครือข่ายในการกระจายสินค้าอยู่เป็นจำนวนมากและสร้างการมองเห็นได้ไวยิ่งขึ้น
"ภาพเล็กของเราในปีนี้คือการทำให้ลูกค้ารู้จักเราก่อน และภาพใหญ่ต่อจากนั้นคือตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไทยที่ประมาณ 1.8 ล้านคัน เราทำทุกอย่างเพื่อก้าวขึ้นไปอีกขั้นในปีต่อไปเมื่อลูกค้าเริ่มรู้จักเราแล้ว เห็นว่าสินค้าของเราขายได้ มีสินเชื่อสนับสนุน คุณภาพดี บริการหลังการขายดี เค้าจะบอกต่อกันเอง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวแทนจำหน่ายหรือตัวผู้บริโภคเองก็ตาม ซึ่งพอเราทำให้เค้ามั่นใจได้ ตลาดจะวิ่งตามมาแล้วการเติบโตอย่างยั่งยืนก็จะตามมาเอง สุดท้ายก็กลับมาที่เราเองนี่แหล่ะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเห็นก่อน "
โดย TAKUNI คาดหวังว่าการเติบโตจะเป็นไปตามที่คาดภายในปีนี้ จะออกผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกการใช้งาน ขยายสาขาเครือข่ายพันธมิตร 100 แห่ง พร้อมยอดขายของจักรยานไฟฟ้าและมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้ารวม 15,000 คันหรือคิดเป็นรายได้ก็ประมาณ 400 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อให้บริการครบวงจรยิ่งขึ้น การมีพันธมิตรในการปล่อยสินเชื่อให้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เนื่องจาก การซื้อจักรยานยนต์ในปัจจุบันเป็นสัดส่วนการเช่าซื้อกว่า 80% ซึ่ง พันธมิตรที่เป็นที่รู้จักในธุรกิจเช่าซื้อจะเข้ามาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น