
บมจ.สเตคอน กรุ๊ป [STECON] ลุยธุรกิจใหม่ เดินหน้าเจรจาพันธมิตรร่วมทุนโครงการพลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์ พลังงานลม ขยะชุมชน พร้อมร่วมชิงงานประมูลงานสัมปทานภาครัฐ ทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ แต่ยอมรับในช่วง 1-2 ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังซบเซาจึงกอดรายได้หลักธุรกิจรับเหมาฯวางเป้ากวาดงานใหม่ 5 หมื่นล้านบาทหนุน Backlog ยืนเหนือแสนล้านบาท คาดทั้งปีพลิกกำไรประคองทั้งกลุ่ม ลุยส่ง 2 บริษัทย่อยเข้าตลาดหุ้นใน 5 ปี และยังผุดบริษัทใหม่รองรับลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์
หลังจาก บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ได้ปรับโครงสร้างมุ่งสู่การเป็นบริษัท Holding Company ภายใต้ชื่อ บมจ.สเตคอน กรุ๊ป [STECON] เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไม่ต้องพึ่งพิงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียว และสร้างรายได้ใหม่ๆ ซึ่งการแลกหุ้น STEC เป็น STECON ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปลายปี 67
การปรับโครงสร้างใหม่ของ STECON ประกอบด้วยธุรกิจดังนี้
1.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ภายใต้ STEC
2.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน มี Stecon Power เป็นหัวหอก
3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ภายใต้การบริหารของ Stecon Logistics & Transportation
4.ธุรกิจอื่นๆ อยู่ภายใต้การนำของ STECX Ventures
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ STECON ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทและบริษัทในกลุ่มได้เดินหน้าบริหารตามโครงสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตในอนาคต เนื่องจากมองว่าภาพเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปียังคงไม่ดีนัก โดยเฉพาะจากผลกระทบสหรัฐฯขึ้นภาษีตอบโต้กับหลายประเทศ ทำให้แทบไม่มีใครกล้าลงทุน และแม้ว่าปีนี้ STECON และบริษัทในกลุ่มยังเดินหน้าหาดีลใหม่เข้ามาเสริมทัพ แต่รายได้จากธุรกิจใหม่ที่แตกไลน์ออกไปยังยากที่จะออกดอกออกผล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะส่งผลดีในระยะถัดไป
STECON ยังคงเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือภายใน ค.ศ.2030 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของ STECON จะพุ่งไปแตะที่ 1 แสนล้านบาท (จากปัจจุบัน หุ้น STECON มีมูลค่า Market Cap ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง P/E ของหุ้นจะไปอยู่ระหว่าง 20-25 เท่า และกำไรสุทธิจะทะยานขึ้นไปถึง 4 พันล้านบาท โดยจะมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (STEC) ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจใหม่ที่แตกไลน์ออกไป คาดว่าจะช่วยดันอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ให้สูงถึง 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-4%
โดยระหว่างทาง หรือในช่วง 4-5 ปีนี้ บริษัทมีแผนจะทยอยนำหุ้นบริษัทย่อยในกลุ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยเบื้องต้นจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ Stecon Power และ Stecon Logistics & Transportation ซึ่งบริษัทได้ Spin off เตรียมไว้แล้ว รอผลประกอบการสะสมครบ 3 ปีตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 68 STECON เริ่มมีรายได้จากบริษัทย่อยทั้ง 2 เข้ามาแล้ว
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ STECON จะยังคงมีรายได้จากธุรกิจรับเหมากก่อสร้างภายใต้ STEC เป็นรายหลักของกลุ่มในสัดส่วนสูงถึง 90-95% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งของกลุ่ม และยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เพราะงานเอกชนช่วงนี้ยังไม่มาก แต่ก็ยังมีโครงการเกี่ยวกับพลังงาน สาธารณูปโภค ที่ออกมาต่อเนื่อง
ในปี 68 กลุ่มบริษัทตั้งเป้ารายได้ของ STEC เติบโต 5-10% มาที่ 3.1-3.2 หมื่นล้านบาท จากปี 67 ที่มีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 2.36 พันล้านบาท
นายจารุณัฐ จิรรัตน์สถิต กรรมการผู้จัดการ STEC กล่าวว่า ปัจจุบันงานในมือ (Backlog) อยู่ระดับ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทตัองการ maintain มูลค่า Backlog ให้อยู่เหนือ 1 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจึงตั้งเป้าหางานใหม่เข้ามาเติมพอร์ตไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/68 ได้รับงานใหม่เข้ามาแล้ว 1.59 หมื่นล้านบาท เป็นงานก่อสร้าง Data Center จำนวน 2 โครงการ
และในไตรมาส 2/68 จนถึงปลายปี คาดว่างานภาครัฐจะมีเข้ามามาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานมอเตอร์เวย์ งานรถไฟทางคู่เฟสสอง ทางด่วน งานขยายสนามบิน อาทิ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีงานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด งานก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ที่คาดว่าปีนี้จะมีเข้ามาต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะงานก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มคาดว่าจะได้รับงานเข้ามาไม่ต่ำกว่า 7-8 พันล้านบาท
"เราจะให้ STEC มุ่งเน้นในเรื่องของงาน Construction อย่างเดียว ส่วนงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานสัมปทาน งานลงทุนในธุรกิจอื่นๆจะเป็นหน้าที่ของแต่ละบริษัทย่อย ของ STECON Group" นายภาคภูมิ กล่าว
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ส่วนงานของ Stecon Power ดูแลสัมปทานกิจการน้ำ ไฟฟ้า โดยระหว่างนี้มีการเจรจาร่วมทุนโครงการพลังงานสะอาด ทั้งโซลาร์ พลังงานลม และ พลังงานจากขยะ โดยในส่วนของดีลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในต่างจังหวัด ได้พูดคุยกันแล้ว 2-3 แห่ง รวมกำลังผลิต 9 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโซลาร์ ดีลไว้ 3-4 ราย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมกำลังทำดีลที่เวียดนาม
ที่ผ่านมา บริษัทได้เซ็นเอ็มโอยูกับบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ [BGRIM] และยังมีการพูดคุยกับ บมจ.กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์[GULF] ที่เป็นพันธมิตรเก่า หรือบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น [WHA] มีโอกาสเจรจาร่วมทุนถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจน้ำประปา บริษัท มาร์ส วอเตอร์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท สเตคอน เพาเวอร์ จำกัด ที่ได้ร้บสัมปทาน 25 ปีในการจ่ายน้ำประปาให้กับ 3 นิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ราว 100 ล้านบาท/ปี
ประธานกรรมการบริหาร STECON ยังกล่าวว่า จากนี้จะเห็น STECON Logistic ซึ่งดูแลสัมปทานธุรกิจขนส่งคมนาคม รวมถึงโครงการในสนามบินอู่ตะเภา เข้าร่วมเข้าประมูลโครงการทางด่วนและรถไฟฟ้าร่วมกับ STEC ที่จะสนับสนุนด้านงานก่อสร้าง (STEC ร่วมทุน 10%) โดยให้ STECON Logistic เป็นผู้บริหารสัมปทาน
งานแรกคาดว่าจะเข้าประมูลโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.ที่จะต้องก่อสร้างและบริหารทางยกระดับตั้งแต่ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต และช่วงรังสิต-บางปะอิน รวมระยะทาง 29 กม.ที่จะร่วมมือกับ STEC ในงานก่อสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างรอประกาศทีโออาร์ออกมา คาดว่าจะเริ่มประมูลไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้
ส่วนรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่มีรายได้ราว 200 ล้านบาท/เดือน หรือมีรายได้ราว 2,400 ล้านบาท จะโอนเข้ามาใน STECON Logitics แม้จะมีผลขาดทุนถึง 400-500 ล้านบาท เพราะจำนวนผู้โดยสารไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้ แต่เนื่องจากบริษัทเข้าร่วมทุนเพียง 15% จึงรับผลจำกัด อย่างไรก็ตาม นายภาคภูมิ คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูน่าจะมีกำไรในปี 71 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า
STECX Ventures เป็นหน่วยธุรกิจที่เสาะแสวงหาดีลธุรกิจใหม่ๆให้กับกลุ่ม ทั้ง STECON Power , STECON Logistics ที่คาดว่าจะเติบโตในอนาคต หรืออย่างดีลกับ สตาร์อัพ ที่เนเธอร์แลนด์ ที่สามารถคิดค้นตัวชิปที่ช่วยลดความร้อนในดาต้าเซ็นเตอร์หรือ ระบบ Cooling ซึ่งปัจจุบันเจรจาถึง final แล้วกำลังทำสัญญา ด้วยมูลค่า 2 ล้านยูโร หรือประมาณ 70 ล้านบาท หรือแม้แต่ การลงทุนในกองทุนรวมต่างๆที่มีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนสูง
นายภาคภูมิ ยังกล่าวว่า STECON กลุ่มอาจแตกธุรกิจใหม่ออกมาอีกซึ่งเป็นการลงทุนเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ซึ่งต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทย โดยกลุ่มได้ตั้งบริษัทชื่อ "STELLA CONNECT" ไว้เรียบร้อยแล้ว
"ปีนี้ ปี 68 ถือเป็นปีที่ เราปรับโครงสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อย กำลังเดินหน้าตามแผนธุรกิจต่อไป การโอนย้ายสัมปทานที่เคยอยู่กับ STEC ก็จะโอนไปบริษัทลูก ตามธุรกิจให้เสร็จภายในปีนี้ ปีนี้รายได้และกำไรหลักๆ จะมาจาก STEC ส่วนธุรกิจอื่นก็เริ่มเดินแล้ว"นายภาคภูมิ กล่าว