
บมจ.การบินไทย [THAI] เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/68 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7,416 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 9,832 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.35 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท เนื่องจากจำนวนหุ้นสามัญของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง จำนวน 12,728 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8%

ในไตรมาส 1/68 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อนอยู่ที่ 83.5% จากการปรับเครือข่ายเส้นทางบินที่เหมาะสม รวมทั้งการสร้างพันธมิตรผ่านการทำรหัสเที่ยวบินร่วม (Codeshare)
รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6%

โดยบริษัทฯมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน โดยได้กลับมาให้บริการในเส้นทางยุโรป ได้แก่ ออสโล มิลาน บรัสเซลล์ และเส้นทางออสเตรเลีย ได้แก่ เพิร์ท อีกทั้งมีการปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,084 ล้านบาท (8.8%) จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 26.5%
บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,481 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 339 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 และขาดทุนจากการวัดมูลค่าจากตราสารอนุพันธ์ อย่างไรก็ตาม มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
บริษัทมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5 ลำ อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และมีแผนทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่นใหม่จะมาพร้อมระบบความบันเทิงส่วนตัวในทุกที่นั่ง และบริการ Wi-Fi ฟรี สำหรับสมาชิก Royal Orchid Plus ทุกระดับสถานะ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้นภายในปีนี้
ทั้งนี้ บริษัททยอยติดตั้งระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง In-flight Connectivity (IFC) บนเครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 ซึ่งเริ่มให้บริการแล้วบนเครื่องบิน 2 ลำแรก ผู้โดยสารสามารถแชทและส่งข้อความได้แบบไม่จำกัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบเปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus ตามระดับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.68 เป็นต้นไป
ณ วันที่ 31 มี.ค.68 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 297,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,245 ล้านบาท (1.8%) จากสิ้นปี 67 หนี้สินรวม 242,314 ล้านบาท ลดลง 4,605 ล้านบาท (1.9%) ส่วนผู้ถือหุ้นเท่ากับ 55,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,850 ล้านบาท (21.6%) อัราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 4.37 เท่า และ 2.23 เท่า ตามลำดับ ดีขึ้นอย่างมากจากก่อนเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 20.66 เท่า และ 12.52 เท่า ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.68 ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value)จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชี และเมื่อรวมกับกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/68 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ 9,555 ล้านบาท เป็นผลให้ในอนาคตบริษัทฯ อาจสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้
และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.68 คณะผู้บริหารแผนฯ อนุมัติให้จดทะเบียนเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ภายหลังการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินสำเร็จ บริษัทรับโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 เข้าประจำการในฝูงบินครบถ้วน และไทยสมายล์หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผลประกอบการในเส้นทางบินที่ใช้เครื่องบินแบบดังกล่าวทำกำไรจากเดิมที่ขาดทุน อันมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณการผลิต (ASK) จำนวนผู้โดยสาร อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) รายได้จากการบรรทุกผู้โดยสาร สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ ที่เพิ่มสูงขึ้