
บมจ. ท่าอากาศยานไทย [AOT] เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) บริษัทมีกำไรสุทธิ5,053.27 ล้านบาท ลดลง 12.64% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5,784.59 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน อยู่ที่ 8,522.15 ล้านบาท ลดลง 13.69% จากการลดลงของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จำนวน 1,200.35 ล้านบาท หรือลดลง 18.79% สาเหตุหลักฯมาจากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร
ขณะที่รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินอยู่ที่ 9,383.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.24% เป็นการเพิ่มขึ้นจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก และการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบิน ส่วนรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 17,905.88 ล้านบาท ลดลง 1.80% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567-มีนาคม 2568) บริษัทมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 35,569.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 33,941.77 ล้านบาท โดยเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 18,188.15 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 2,751.25 ล้านบาท คิดเป็น 17.82% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 17,381.64 ล้านบาท ลดลง 6.07% หรือลดลง 1,123.23 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 18,504.87 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 10,397.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 10,347.62 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.48%
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ สุวรรณภูมิ (ทสภ.) ดอนเมือง (ทดม.) เชียงใหม่ (ทชม.) แม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ภูเก็ต (ทภก.) และหาดใหญ่ (ทหญ.) ใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 มีจำนวนเที่ยวบินรวม 414,377 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.90% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 237,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 176,866 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 68.42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.76% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42.34 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.08 ล้านคน
สำหรับความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ AOT ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบิน (Incentive Scheme) และโครงการสนับสนุนการตลาด (Marketing Fund) เพื่อให้สายการบินประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น
ขณะเดียวกัน AOT ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2576
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเติบโตของการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินโดยรวม
AOT ยังนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสากลมาใช้ทุกขั้นตอนของการให้บริการในสนามบิน เช่น ระบบให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเที่ยวบินให้สอดคล้องกับแผนการเดินทางอากาศสากล ลดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเริ่มเปิดให้บริการระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง (Biometric) ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินและขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลารอคอย
รวมทั้งนำระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) มาใช้สำหรับผู้ถือ e-passport และใช้ Thailand Digital Arrival Card (TDAC) แทน ตม.6 แบบกระดาษเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา รอคิว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของท่าอากาศยานไทยสู่การเดินทางแบบ "Smart Airport Smart Immigration"
นอกจากนี้ AOT ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ผ่านโครงการ AOT Property Showcase โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน (PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นโครงการให้บริการคลังสินค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building อาคารจอดรถ และศูนย์เชื่อมต่อการขนส่งระบบราง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง