
เม็ดเงินลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย ในนามของ "กองทุนต่างประเทศ" เตรียมตัวทยอย "ลดน้ำหนัก" การลงทุนในตลาดหุ้น (อีกครั้ง) ตามการชี้นำการลดน้ำหนักของ MSCI
มีรายงานว่ากองทุนต่างประเทศที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นไทยในอดีต ตอนนี้ไม่มีผู้จัดการกองทุนที่ดูแลการลงทุนในประเทศไทยอีกแล้ว
เนื่องจาก ตลาดหุ้นไทยเหลือสัดส่วนใน MSCI Emerging Markets Index เพียงแค่ 1.23% และเหลือหุ้นที่ถ่วงน้ำหนักแค่ 27 ตัวเท่านั้น หรือคิดเป็นมูลค่า 98,764 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่เคยมีการถ่วงน้ำหนัก 2.87% ในปี 2019 ที่มีหุ้นอยู่ 38 ตัว หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 154,767 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ MSCI เข้ามาถ่วงน้ำหนักให้หุ้นไทยอยู่ในตระกร้าของตลาดหุ้นเกิดใหม่ MSCI EM Freefloat นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
ตัวเลขที่ 1.23% มีโอกาสจะยังคงลดลงอีก เมื่อกระแสเงินทุนเตรียมไหลออกอีกประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 หลัง MSCI การประกาศผลการทบทวนล่าสุดออกมา แนวโน้มนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญของตลาดหุ้นไทยที่มีต่อ MSCI ที่ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
หากมองในเรดาร์การลงทุนระดับโลก ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องบอกว่าตลาดหุ้นไทยกำลังค่อยๆ หายไปจากแผนที่ของผู้จัดการกองทุนระดับโลก
โดยปกติเกณฑ์หลักๆ ของการคัดเลือกหุ้นเข้า-ออก ของ MSCI จะไม่มีใครทราบได้ เพราะไม่เคยมีการประกาศอย่างชัดเจน เหมือน SET50 ต่อให้เป็นสมาชิกที่จ่ายเงิน ก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่หลักใหญ่ที่ผู้เขียนพอจะคาดเดา การคัดเลือกใช้เกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้า-ออก จาก MSCI มีอยู่ 4 ข้อ คือ
1. ขนาดของ Market cap. ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรับแรงซื้อ-ขาย รายวันได้
2. มี Free Float อยู่ในอัตราที่เหมาะสม กล่าวคือ ต้องเป็นหุ้นที่มีการกระจายถือแบบกระจายตัวของนักลงทุนทั่วไป ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะแค่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
3. มีปริมาณสภาพคล่องการซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อวันสูง เข้าเกณฑ์ของ MSCI ผู้เขียนเข้าใจว่า ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวันขึ้นไป
4. มีการคำนวณเทียบเคียงกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันในโลก
ทั้ง 4 เงื่อนไขจะมารวมกันเป็นคำจำกัดความว่า คือ "สภาพคล่อง-Liquidity "นั่นเอง หรือ อธิบายง่ายๆคือ หุ้นที่น่าสนใจจะมีสภาพคล่องสูง ฟรีโฟลตต้องสูงตาม พอความสนใจมีมาก ก็จะมีคนซื้อมากกว่าคนขาย ความนิยมทางด้านราคาก็จะมากขึ้นไปด้วย
เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป จากการที่มีคนซื้อมากกว่าขาย Market cap. ก็จะเติบโตขึ้น
ในจังหวะที่ Market cap.เติบโตขึ้น ก็สามารถ รองรับแรงซื้อ-แรงขายที่มีขนาดใหญ่ของกลุ่มผู้ลงทุนที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะ "กลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ"
นั่นจึงกลายเป็นที่มาของ ความสำคัญที่ตลาดหุ้นไทยต้องมี สภาพคล่อง หรือ Liquidity
ที่ผ่านมา เราจะทราบดีว่ามีผู้ลงทุนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่สนับสนุนการมีของ High Frequency Trading (HFT) , Algo, Robot และกดดันมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่าถูกเอาเปรียบในเรื่องของความเร็ว ในการซื้อๆ ขายๆ หุ้นตัดหน้า รวมถึงอ้างความไม่เท่าเทียม
ทั้งๆ ที่กลยุทธ์การลงทุนที่ประสบความสำเร็จของบุคคลในตลาดทุนทั้งโลก หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ไม่ใช่ มาจากการซื้อหรือขายได้ "เร็ว" กว่าคนอื่น
คนที่ไม่เข้าใจ หรือไม่มีความรู้เพียงพอ ก็หลงเชื่อว่า "สูตรสำเร็จ" ของการชนะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เกิดจาก "ใครเร็วกว่า คนนั้นชนะ" หรือ "ขาดทุนเพราะความไม่เท่าเทียม" ซึ่งมันไม่จริงเลย
เพราะแท้จริงแล้ว การประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น เกิดจากการเลือกถือหุ้นที่ดีจากพื้นฐานในระยะยาว เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต
จากการวิเคราะห์เบื้องต้น HFT, Algo, Robot เป็น "ศัตรูหมายเลข 1" ของผู้ลงทุนที่ชอบการเข้าไปเสี่ยง เก็งกำไร หาค่ากับข้าวรายวัน เหมือนเดินเข้าบ่อนเพื่อวัดดวงแล้วจบ โดยไม่ต้องถือหุ้นกลับบ้าน
หรือไม่อีกประเภทที่ต้องการ Corner หุ้น แบบใช้มือคีย์ จะได้สร้างราคาหุ้นได้ง่ายขึ้น เหมือนในอดีต
แต่ "ความเร็วในการซื้อหุ้น" ไม่ใช่ "กุญแจสำคัญ" ในการทำให้พอร์ตเติบโต แต่ "การเลือกหุ้นถูกตัว ถูกจังหวะ" ต่างหากที่สำคัญที่สุด
ผลกระทบที่แสดงออกมาจากการลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย ของ MSCI ล่าสุดในครั้งนี้ อีก 16,700 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) น่าจะเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจน
เท่าที่เห็น มีคนที่เสียหายจากการเล่นหุ้นไทยแล้วพาลไปโทษ HFT, Algo, Robot แต่พอเสียหายจากการเล่นหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐแต่กลับเงียบกริบ อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องแปลกพอสมควร
ตลาดหุ้นทั่วโลก พยายามหาพยายามดึงเอา Automation (HFT, Algo, Robot) มาใช้สร้างสภาพคล่องให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นของตนเอง มีแต่คนเล่นหุ้นในประเทศไทยเท่านั้นที่ยืนยันจะใช้ Manual แล้วบอกว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะใช้ แล้วแบบนี้มันจะไปรอดแค่ไหน
การที่เราจะรอให้มาร์เก็ตติ้งมานั่งคีย์ทีละออร์เดอร์คงไม่ทันการณ์อีกต่อไปแล้ว เพราะ "สภาพคล่อง" จะหายลงไปเรื่อยๆ และรอบหน้าก็คงหนีไม่พ้น ถูก"ลดน้ำหนัก" ลงอีกอย่างแน่นอน
ธิติ ภัทรยลรดี