HILITE: กลุ่มค้าปลีกปรับลง โบรกฯชี้ Q2/68 เผชิญ SSSG อ่อนตัว ความเชื่อมั่นลดลง-กังวลภาษี "ทรัมป์"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 21, 2025 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มค้าปลีก เผชิญความท้าทายในไตรมาส 2/68 โดยดัชนี COMM ปรับลง 1.63% มากกว่า ดัชนี SET ลบ 0.51%

เมื่อเวลา 14.09 น.

CPALL ปรับลง 1.48% มาที่ 50.00 บาท ลดลง 0.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 760.61 ล้านบาท

CPAXT ปรับลง 1.81% มาที่ 21.70 บาท ลดลง 0.40 บาท มูลค่าซื้อขาย 205.31 ล้านบาท

CRC ปรับลง 2.63% มาที่ 18.50 บาท ลดลง 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 323.40 ล้านบาท

DOHOME ปรับลง 5.37% มาที่ 3.88 บาท ลดลง 0.22 บาท มูลค่าซื้อขาย 82.93 ล้านบาท

GLOBAL ปรับลง 2.68% มาที่ 5.45 บาท ลดลง 0.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 56.29 ล้านบาท

HMPRO ปรับลง 1.91% มาที่ 7.70 บาท ลดลง 0.15 บาท มูลค่าซ้อขาย 329.82 ล้านบาท

BJC ปรับลง 2.68% มาที่ 21.80 บาท ลดลง 0.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 57.46 ล้านบาท


ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) (CGSI) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้ค้าปลีก 8 บริษัทที่ศึกษา (BJC, CPALL, CRC, MOSHI, CPAXT, DOHOME, GLOBAL, HMPRO) มีกำไรจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 1/68 รวม 1.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% yoy และลดลง 8.3% qoq นำโดยผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งกำไรปกติของกลุ่มนี้เติบโตก้าวกระโดดถึง 19.6% yoy เป็น 1.15 หมื่นล้านบาท หนุนจาก CPALL (+25.5% yoy) ส่วน BigC เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีกำไรปกติลดลง เพราะยอดขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัว รวมถึงรายได้ค่าเช่าที่ลดลง

สำหรับผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยยังต้องพยายามประคับประคองธุรกิจ โดยกลุ่ม Home improvement มีกำไรปกติลดลง 4% yoy เป็น 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 1/68 เนื่องจากอุปสงค์การสร้างบ้านและการปรับปรุงที่อยู่อาศัยยังอ่อนตัว อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทรงตัว เพราะยอดขายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่มีอัตรากำไรสูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มแฟชั่นจะเริ่มเข้าสู่ขาลง เห็นได้จากอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG)และ GPM ที่ลดลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนตัวและจำนวน นักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างชัดเจน

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า สถานการณ์ของกลุ่มค้าปลีกในไตรมาส 2/68 อาจแย่ลงก่อนจะกลับมาดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเม.ย.68 ลดลง เพราะผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯช่วงปลายเดือนมี.ค. และความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐ ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่มี SSSG ติดลบ โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกสินค้า Home improvement ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด (SSSG QTD อยู่ที่ -3% จนถึง -15%) รวมถึงสินค้าแฟชั่นที่อ่อนตัวต่อเนื่อง (SSSG ติดลบประมาณ 5%)

ในขณะที่ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคยังมียอดขายค่อนข้างทรงตัว (SSSG อยู่ระหว่าง -2% และ +1%) ส่วน MOSHI ยังคงโดดเด่นสุดในกลุ่ม โดย SSSG QTD อยู่ที่ประมาณ +17% แม้จะไม่รวมผลจากฐานที่ต่ำประมาณ 10% จากปัญหาขาดแคลนอุปทานในปีที่แล้ว SSSG ก็ยังยืนสูงถึง +6-7% เทียบกับค้าปลีกรายอื่นที่มี SSSG ติดลบ ซึ่งมองว่าสาเหตุที่ช่วยหนุน SSSG ของ MOSHI น่าจะเป็นผลมาจากกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และการปรับปรุงร้านเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า BJC และ CPALL ยังเป็น Top pick ในกลุ่มค้าปลีกไทย เพราะถือเป็นหุ้น defensive growth ในฐานะผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค โดยยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่ม Home improvement เพราะรายได้ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันและขาดปัจจัยหนุนในระยะสั้น ส่วน MOSHI โดดเด่นในกลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์จากกำไรที่ยืดหยุ่นและการเติบโตเชิงโครงสร้าง สำหรับ CRC แม้กำไรจะมีแนวโน้มอ่อนตัว แต่การประเมินมูลค่ายังน่าสนใจที่ P/E เพียง 13.5 เท่าในปี 68 (ถูกที่สุดในกลุ่ม) จึงเป็นจุดกลับเข้าซื้อเชิงกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่า

ขณะที่ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในกลุ่มค้าปลีกไทย เนื่องจากมองว่ากลุ่มผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มกำไรชัดเจนและการประเมินมูลค่าที่ P/E 16.9 เท่าในปี 68 ยังน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มค้าปลีกจะมี downside risk หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงตกต่ำและสถิตนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด ส่วนปัจจัยบวกคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการทางด้านการคลัง


แท็ก SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ