
นายพิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี [SVT] ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจำหน่ายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือตู้เวนดิ้งรายใหญ่ของประเทศ เปิดแผนการปรับกลยุทธ์รับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรก SVT จะมีการเติบโตที่ดีก็ตาม ทั้งนี้เพื่อจะพยายามคงเป้าหมายการเติบโตทั้งปี 68 ไว้ที่ 10%
นายพิศณุ เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ถึงแม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 68 บริษัทสามารถเติบโตได้ดี สภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังกลับสร้างกังวลให้แก่บริษัทฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จึงได้วางแผนใหม่เตรียมมือเพื่อรักษาเป้าหมายเติบโต 10% ภายในปีไว้ให้ได้
"ปีนี้ก็ยังเติบโตอยู่ คิดว่ายังไงเราก็น่าไม่ลดเป้า 10% แต่เราจะปรับพวกกลยุทธ์อื่น ๆ ให้ยังเติบโตไปต่อได้ดีกว่า" นายพิศณุ กล่าวช่วงต้นปี 68 บริษัทตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะมีการติดตั้งตู้เวนดิ้งเพิ่มให้ถึง 2 หมื่นตู้ จากที่มีอยู่ประมาณ 1.8 หมื่นตู้ ซึ่งการเพิ่มจำนวนตู้เป็นส่วนหนึ่งในแผนขับเคลื่อนการเติบโตที่ทำให้รายได้ในไตรมาส 1/68 เติบโตถึง 7.15% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มาถึงสถานการณ์ปัจจุบันการขยายตู้ให้ได้จำนวนมากขนาดนั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับบริษัทภายใต้เศรษฐกิจในยุคทรัมป์ 2.0 และจำนวนนักท่องเที่ยวบางส่วนหายไปและฟื้นตัวช้า
"เราไปไม่ถึง 2 หมื่นแน่นอน เพราะเราต้องชะลอการติดตั้งออกไปก่อน...เราเป็นกังวลอยู่เรื่องเดียว ก็คือภาษีทรัมป์นั่นแหละ แล้วการท่องเที่ยวปีนี้ไม่ค่อยดี การใช้จ่ายลดลง ในพวกห้างสรรพสินค้าก็สามารถเห็นได้" นายพิศณุ กล่าวแหล่งรายได้สำคัญของ SVT นั้นคือตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ติดตั้งในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในไตรมาส 2/68 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับอานิสงส์จากภาคการผลิตที่เร่งตัวเพื่อส่งออกก่อนนโยบายภาษีศุลกากร 36% สหรัฐฯจะมีผลบังคับใช้ แต่หากในไตรมาส 3/68 โรงงานลดการผลิต รวมถึงลดคนงาน-ชั่วโมงการทำงานลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะนโยบายภาษีทรัมป์ หรือสภาวะเศรษฐกิจในบ้านที่ไม่เอื้อก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นความท้าทายให้แก่บริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม 5 พันกว่าโรงงานที่ SVT ได้ติดตั้งตู้เวนดิ้งไว้ อาจจะมีเพียงประมาณ 10% ที่เป็นการผลิตส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยตรง รวมทั้งพื้นที่ติดตั้งมีความหลากหลายของประเภทอุตสาหกรรม ทำให้ท้ายที่สุดนโยบายภาษี "ทรัมป์" ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากกับ SVT มากนัก แต่ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ก็ทำให้บริษัทได้กลับมามองและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม เพื่อให้ SVT ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง และให้ถึงเป้าเติบโต 10% จากปีก่อน
กลยุทธ์รับมือหลักของบริษัทนั่นก็คือการเลือกขยายตู้เวนดิ้งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มุ่งเน้นไปในทำเลโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเคย แต่จะศึกษาให้ละเอียดขึ้น และเลือกติดตั้งในกลุ่มโรงงานมีศักยภาพดี ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐมาก พร้อมกับ ชะลอการติดตั้งในโรงงานกลุ่มสุ่มเสี่ยง อย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือยานยนต์
เมื่อการติดตั้งตู้ชะลอไป SVT ก็จะทดแทนด้วยการเพิ่มยอดขายในแต่ล่ะตู้ผ่านวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่เปลี่ยนสินค้าในตู้ให้เป็นสินค้าพรีเมียมมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มขนาดบรรจุ คุณภาพ และเพิ่มราคาสินค้าบางกลุ่ม จากข้อมูลไตรมาส 1/68 SVT มีรายได้เฉลี่ยต่อตู้ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 400 บาท/เครื่อง/วัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 406 บาท/เครื่อง/วัน
และบริษัทฯ จะยังเดินหน้าลดต้นทุนต่อ เช่นเดียวกับที่ทำมาตลอด ด้วยการหาซัพพลายเออร์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้ต้นทุนการประกอบตู้เวนดิ้งถูกลง ส่วนแนวโน้มการตั้งโรงงานผลิตเป็นของตัวเองนั้น นายพิศณุ คาดว่าจะยังคงอีกไกล เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ก็ดูไม่เหมาะสม แต่ในอนาคตก็มองว่าอยากทำ โดยอาจเป็นการร่วมทุนกับโรงงานในประเทศจีน
ในไตรมาส 3/68 นี้ SVT ก็ได้เตรียมนำร่องติดตั้งตู้เวนดิ้งรูปแบบใหม่ชื่อ "Jet Pack" ประมาณ 10 ตู้ ที่จะขายสินค้าประเภทแพ็คใหญ่ เจาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม โดยตู้ที่จะติดตั้งจะเป็น prototype ก่อนทำให้ต้นทุนยังไม่สูงมาก ระหว่างที่บริษัทฯ มองหาซัพพลายเออร์ที่สามารถผลิตตู้ Jet Pack ให้ได้ถูกที่สุด คาดว่าสิ้นปีนี้จะติดตั้งได้ประมาณ 40-50 ตู้
ขณะที่ตู้เครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติหรือ "Milkie Way" ที่เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 67 นายพิศณุ กล่าวว่า บริษัทจะยังไม่รีบนำมาใช้จริง เพราะมองเห็นว่าตลาดกลุ่มนี้ไม่มีการเติบโตมากนักในช่วงที่ผ่านมา จึงเลือกที่จะรอแนวโน้มให้ออกดีมาก่อน และระหว่างรอก็หาวิธีปรับลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มคุณภาพเพื่อสร้างจุดแตกต่างให้แก่ Milkie Way