CEN รุกธุรกิจพลังงาน-อสังหาฯหวังเพิ่มรายได้แข็งแกร่ง,ดัน RWI เข้าตลาดฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 16, 2011 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค(CEN)ตั้งธงรุกธุรกิจพลังงานสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุดติดต่อกับผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิคกลุ่ม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย คาดอสรุปดีลต้นปี 55 ขณะเดียวกันดีลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะจบภายในปีนี้ พร้อมกันนั้นยังมีแผนลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มองหาที่ดินขึ้นคอนโดมิเนียมหวังเพิ่มรายได้ให้ CEN เป็นโฮลดิ้งแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ผู้บริหารคาดว่ารายได้จากหลากหลายธุรกิจที่เพิ่มเข้ามาจะเริ่มผลักดันรายได้ปี 55 ให้เติบโตไม่น้อยกว่า 20% จากปี 54 ที่รายได้เติบโตในอัตรา 15% และคาดว่ากำไรสุทธิเติบโตในอัตราส่วนเดียวกับรายได้

*พุ่งเป้าขยายธุรกิจพลังงาน

นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CEN เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ช่วงนี้บริษัทเน้นธุรกิจพลังงานที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ที่มีบริษัทถือหุ้น 80.08% โดยมีแผนจะเพิ่มกำลังโรงไฟฟ้าเป็น 20 เมกะวัตต์ภายใน 1-2 ปีนี้ จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 11 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟ 15 ปี กับลูกค้า 2 รายในจ.สระบุรี สร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละประมาณ 200 ล้านบาท คาดหวังว่าจะเพิ่มรายได้ไปเป็น 400 ล้านบาท

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรง กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ และ ขนาด 5 เมกะวัตต์เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับริษัทผลิตกระเบื้องเซรามิกในกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนตร์ไทย(SCC)คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปี 55

พร้อมกันนั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเข้าร่วมทุนกับเจ้าของใบอนุญาต โดยขณะนี้เจรจาอยู่ 2-3 ราย ซึ่งจะมอบหมายให้บริษัท เอ็นเนซอล เข้าไปบริหาร และเข้าไปร่วมทุนหรือถือหุ้น

"คุยเจ้าของใบอนุญาต ซึ่งมีพื้นที่อยู่แล้ว อยูที่เขาต้องการขาย หรือ ร่วมลงทุนเท่าไร...แต่ขณะนี้ยังไม่สรุป เคยคุยกันว่าต้องการให้จบเดือนพ.ย.นี้ พยายามจะสรุปให้ได้หมด 2-3 ราย แต่จะได้หรือเปล่ายังไม่รู้"นายวุฒิช้ย กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเท่าที่ศึกษาพบว่าไม่ง่ายที่จะดำเนินการ แต่ขณะนี้บริษัทได้เข้าไปเจรจากับเทศบาลเมืองของจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศ เพื่อขอสัมปทานขยะเพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทนในโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยจะมีการพิจารณาปริมาณขยะและความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า

*ผลักดัน"ระยองไวร์"เข้าตลาดหุ้นต่อจาก"เอื้อวิทยา"

นายวุฒิชัย กล่าวว่า บริษัทมีแนวโน้มที่จะนำ บมจ.ระยองไวร์(RWI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่นำ บมจ.เอื้อวิทยา(UWC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาไฟลิ่งและคาดว่าจะเข้าตลาดหุ้นได้ภายในปลายปีนี้

"CEN มีรายได้หลักจากระยองไวร์เป็นแกน หลังจากที่เราแยกเอื้อวิทยา แต่ถ้าไม่เป็นระยองไวร์ก็เป็นเอ็นเนซอลเข้าตลาด หรือเป็นแกนธุรกิจของ CEN หรือธุรกิจหลักของบริษัทที่ใกล้เคียงเอื้อวิทยา...แต่ดูแล้วระยองไวร์ น่าจะมีโอกาสเข้าตลาดได้มากกว่า"นายวุฒิชัย กล่าว

ทั้งนี้ บมจ.เอื้อวิทยา(UWC)มี CEN ถือหุ้น 90.98% และบมจ.ระยองไวร์(RWI)มี CEN ถือหุ้น 99.99% จัดอยู่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้างเป็นธุรกิจเหล็ก ซึ่งในปี 54 ทั้ง 2 บริษัทสร้างรายได้หลักให้ CEN โดยรับรู้รายได้จาก UWC ในสัดส่วน 40% และ RWI สัดส่วน 40% ส่วนที่เหลือ 20% มาจากเอ็นเนซอล

แต่เนื่องจาก CEN ตัดสินใจนำหุ้น UWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปลายปีนี้ ก็จะทำให้ RWI จะกลายมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และมีแผนเตรียมนำ RWI เข้าจดทะเบียน โดยจะดันเอ็นเนซอลเป็นธุริกจแกนของ CEN ที่เป็นโฮลดิ้งคัมปานี ดังนั้น ในอนาคตแผนธุรกิจจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเอ็นเนซอลจะมีรายได้มากขึ้น วางเป้ารายได้ถึง 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มธุรกิจใหม่ คือ บริษัท ไปป์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% รับงานเจาะอุโมงค์ โดยจะรับงานจากการประปานครหลวง(กปน.) การประปาภูมิภาค(กปภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ในปีนี้คาดว่ามีรายได้ประมาณ 10-20 ล้านบาท จากการเป็น Sub-Contractor ให้กับ กปน.

อีกทั้งมีแผนลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมองหาที่ดินที่มีทำเลดี เพื่อพัฒนาครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งบริษัทอาจจะลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์

"ผมมองคอนโดฯ เพราะใช้เวลาเร็ว ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวใช้เวลานานทั้งการตลาดและการสร้าง แต่คอนโดฯมีเวลาแน่นอน สร้าง 2 ปี ถ้าขายไม่หมดก็จะเปิดให้เช่าเพราะมีโลเกชั่นดี"นายวุฒิชัย กล่าว

*ผลงานปี 54 เป็นไปตามเป้า,เชื่อปี 55 ดีขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CEN คาดว่ารายได้ปี 54 เป็นไปตามเป้าที่เติบโต 15% เป็น 1.7-1.8 พันล้านบาท ส่วนกำไรเติบโต 15% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 7-8%.ใกล้เคียงปีก่อน

สำหรับผลงานไตรมาส 3/54 ยังขาดทุนต่อเนื่องจากไตรมาส 2/54 ที่ขาดทุน 11.3 ล้านบาทที่มาจากต้นทุนเหล็กสูงขึ้น โดยบริษัทพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารวัตถุดิบ โดย RWI เพิ่มแหล่งซื้อเหล็กจากอินเดียและอิตาลี เพิ่มจากเดิมซึ้อจากแหล่งจีนที่เดียว ส่วน UWC จะซื้อสำรองเก็บไว้ 3-6 เดือนที่ผ่านมาขึ้นกับสภาพคล่อง โดยขณะนี้ซื้อสำรองไปถึงสิ้นปีแล้ว

ปี 55 บริษัทคาดว่ารายได้จะโตไม่น้อยกว่า 20% ที่ได้เพิ่มมาจาก UWC จากที่มีงานในมือสูง โดยเป็นงานสายส่งไฟฟ้าเป็นหลัก และจากเอ็นเนซอลที่จะมีรายได้จากโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว

อนึ่ง ปี 53 บริษัทมีรายได้ 1.5 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท

*เปิดใจฝ่าคำวิจารณ์เดินหน้าธุรกิจอย่างจริงจัง

นายวุฒิชัย กล่าวว่า เข้ามาตั้งใจบริหารงานที่นี่ และเรามีสัดส่วนถือหุ้นมากอันดับต้นๆตั้งแต่แรก เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี สามารถขยายงานได้ทั้งด้านพลังงานและวัสดุก่อสร้าง จึงได้เข้าซื้อหุ้นไว้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นให้ความไว้วางใจที่จะให้เข้ามาบริหารงาน เพราะเห็นว่าตนเองมีพื้นฐานที่จบการศึกษาสายตรงมาในด้านวิศวกรรมเครื่องกล

แต่ในแง่การลงทุนยอมรับว่าในช่วงแรกตระกูลลีนะบรรจงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการเข้าลงทุนหุ้นในลักษณะเก็งกำไร แต่หลังจากเข้ามาบริหารงาน CEN ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราก็พิสูจน์ได้ระดับหนึ่งแล้วว่าต้องการทำธุรกิจจริงจัง จนกระทั่งธนาคารเจ้าหนี้หมดความสงสัยที่มีมาแต่แรก ทำให้ปัจจุบันยินยอมให้สินเชื่อ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าห้ามขายหุ้นและต้องถือหุ้นใหญ่

"3 ปีผมไม่ได้ขายหุ้นออก ผมพยายามล้างภาพเล่นหุ้นว่าผมเข้ามาบริหารจริง ในพอร์ตก็ไม่ได้เทรด และปีที่แล้วเราเริ่มจ่ายปันผลปีแรกหลังจากไม่ได้ปันผลมากว่า 10 ปี "นายวุฒิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 54 ปรากฎว่า ชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ นายชนะชัย ลีนะบรรจง ถือ 14.04%, นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง 8.48% , นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ 7.50% ,บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 6.74% และ นายศิริชัย ว่องวุฒิพรชัย 4.94%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ