ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน "ธ.ธนชาต"ที่ AA- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2012 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต ที่ระดับ “AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “AA-" ระดับ “A+" และระดับ “A" ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารธุรกิจหลัก คือสินเชื่อเช่าซื้อ นอกจากนี้ ยังสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่และกระจายตัว ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น และกลยุทธ์ที่เอื้อต่อการเพิ่มความแข็งแกร่งในการผสานธุรกิจของกลุ่มธนชาตด้วย

อันดับเครดิตได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของพันธมิตรจากประเทศแคนาดา คือ Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 49% ผ่าน Scotia Netherlands Holdings B.V. อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงจากปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-performing Asset -- NPA) ที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคาร รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจำกัดการขยายตัวทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของกลุ่มธนชาต

อันดับเครดิต “A" ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสะสมผลตอบแทน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567

ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ยและธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลา 6 เดือนก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนดอกเบี้ยสะสม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนบทบาทสำคัญของธนาคารในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าธนาคารจะมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการผสานพลังภายในกลุ่ม อีกทั้งสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตอย่างยั่งยืนของรายได้ การมีวิธีแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างได้ผล รวมทั้งการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ธนาคารได้ลงนามในสัญญาจะขายหุ้นทั้งหมดใน บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารให้แก่ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้วยมูลค่าประมาณ 17.5 พันล้านบาท และหากได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถโอนหุ้นและจ่ายชำระได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ทั้งนี้ กำไรสุทธิของธนชาตประกันชีวิตในงวดครึ่งแรกของปี 2555 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 21% ของกำไรสุทธิในงบการเงินรวมของธนาคาร

ธนาคารจะนำเงินสดที่ได้จากการขายกิจการบริษัทธนชาตประกันชีวิตไปใช้ขยายสินเชื่อ โดยกำไรจากธุรกรรมดังกล่าวยังช่วยทำให้เงินกองทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรในธุรกิจการขายประกันชีวิตผ่านธนาคาร (Bancassurance) อีกด้วย โดยรายได้รวมของธนาคารคาดว่าจะลดลง แต่จะมีรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาทดแทนรายได้ที่เสียไปจากการขายธุรกิจในครั้งนี้ได้

ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 8.0% และเงินรับฝากที่ 7.2% ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด ณ เดือนกันยายน 2555 ประมาณ 27% ด้วยยอดสินเชื่อ 360.9 พันล้านบาท (รวมสินเชื่อของ บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่)

ภายหลังการควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในสินเชื่อธุรกิจซึ่งมีการกระจายไปสู่ทุกภาคส่วน ทำให้ส่วนผสมของสินเชื่อดีขึ้นและลดการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อธุรกิจรวมสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม ณ เดือนกันยายน 2555 คิดเป็น 35% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2552 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 65% ลดลงจาก 78% ในปี 2552 การรวมกิจการยังช่วยขยายฐานลูกค้าเงินฝากและเครือข่ายสาขาให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตและสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภายในกลุ่มผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอพิสูจน์ถึงความสามารถของธนาคารในการใช้ประโยชน์จากการผสานธุรกิจภายในกลุ่มต่อไป

ฐานะการเงินของธนาคารปรับตัวลดลงในปี 2554 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 แต่กระนั้นยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งในช่วงหลังการรวมธุรกิจ โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 7.7 พันล้านบาทในปี 2554 ลดลง 12.6% จากปีก่อน ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset -- ROAA) และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity -- ROAE) ในปี 2554 เท่ากับ 0.87% และ 10.37% ตามลำดับ ลดลงจาก 1.34% และ 17.51% ในปี 2553

กำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 มีจำนวน 5.9 พันล้านบาท ลดลง 7.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ROAA และ ROAE เท่ากับ 0.65% และ 7.63% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ตามลำดับ ลดลงจาก 0.74% และ 8.86% ในงวดเดียวกันของปีก่อน และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ 1.10% และ 11.67%

สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของดอกเบี้ยรับสุทธิและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดำเนินงาน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจาก 3.38% ในปี 2553 เป็น 2.52% ในปี 2554 และ 1.67% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5%-6% ในปี 2554 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าเมื่อการควบรวมกิจการแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ฐานะทางการเงินของธนาคารน่าจะดีขึ้นได้ในระยะกลาง

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-performing Loan -- NPL) และ NPA (ได้แก่ สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) จำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารได้พยายามแก้ไขปัญหา NPL มาโดยตลอด โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็น 4.89% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 6.06% ในปี 2553 และ 5.92% ในปี 2554 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ 3.27% ทั้งนี้ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ภายหลังการควบรวมกิจการยังคงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับธนาคาร

ภายหลังการควบรวมกิจการ ธนาคารมีแหล่งเงินทุนที่กระจายตัวดีขึ้นอีกทั้งยังสอดคล้องกับโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินมากยิ่งขึ้น ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะกลาง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวม ณ เดือนกันยายน 2555 เท่ากับ 9.11% และ 14.65% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.25% และ 8.50% แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารที่ระดับ 10.81% และ 15.58%

นอกจากนี้ เงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญซึ่งมีไว้สำหรับรองรับความเสียหายจากสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ธนาคารมี NPA คิดเป็น 0.62 เท่าของเงินกองทุนรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.44 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ