(เพิ่มเติม) กสทช. คาดก.พ. 56 ได้ข้อสรุปกรอบเวลาจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 15, 2013 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม. กล่าวว่า ในเดือน ก.พ.56 คาดจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบเวลาการดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือ ระบบ 4G หลังจากคณะอนุกรรมการที่ดูแลผลกระทบหลังคลื่น 1800 MHz ซึ่งหมดอายุสัญญาสัมปทาน ในเดือน ก.ย.นี้ ที่จะได้ข้อสรุปการจัดการคลื่นและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ
"อยากเปิดประมูลเร็วที่สุด เพราะคลื่น 1800 เป็นคลื่นถี่ที่ต่อยอด. 4G...คิดว่าจะมีการกำหนดว่าจะจัดสรรคลื่นอย่างไร เราจะตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดเพื่อจัดการประมูล ยอมรับว่ามีความซับซ้อนขึ้น ไม่อยากเร่งแล้วเกิดปัญหา"พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานนั้นได้แก่ ทรูมูฟ เป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่มีอยู่ 12.5 MHz มีลูกค้าอยู่จำนวน 17 ล้านราย ส่วน ดีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) มีอยู่ 12.5 MHz เช่นกัน จำนวนลูกค้า 9 หมื่นราย

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวยืนยันว่า ผู้ที่ใช้บริการของทรูมูฟ และ ดีพีซี หลังหมดอายุสัมปทานจะไม่รับผลกระทบ และจะไม่เกิดกรณีซิมดับ

นอกจากนี้ ยังได้วางกรอบเวลาจะจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีประมูลในกิจการดาวเทียมสื่อสาร ในไตรมาส 3/56 โดยจะมีทั้ง C Band และ KU Band

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในปีที่แล้วได้ดำเนินยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือการประมูลและออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด บริษัทย่อยของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ในปี 55 ตลาดบริการโทรคมนาคมในประเทศไทย มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.7 โดยส่วนใหญ่เป็นตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 76 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการใช้งานด้านเสียง (VOICE) ร้อยละ 76 ขณะที่การใช้งานข้อมูล (ดาต้า) ร้อยละ 24 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 30 จากปีก่อนหน้า ในขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่และบริการ อินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนร้อยละ 13 และ 11 ตามลำดับ

สำหรับปี 56 นี้ทั้ง 3 บริษัทจะเปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี และทำให้มูลค่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และตลาดโทรคมนาคมของประเทศ โดย เฉพาะบริการที่ไม่ใช่เสียง (NON-VOICE) หรือดาต้า เติบโตอย่างมาก ตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในตลาดทั่วโลก พร้อมคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมจะขยายตัวขึ้นเป็น 5.4 แสนล้านบาท ภายในปี 59 โดยมีแรงผลักดันจากตลาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดสูงกว่า 4.6 แสนล้านบาท เป็นสัดส่วนมูลค่าตลาด NON-VOICE มากกว่า ร้อยละ 50 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี ร้อยละ 44

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดดังกล่าว ทำให้ในปีนี้ กทค. จะเน้นการเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อง3G อย่างเข้ม ข้น ซึ่งล่าสุดมีการออกประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์มือถือโทรในประเทศ ให้เรียกเก็บค่าบริการไม่เกิน 99 สตางค่ต่อนาที ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ เป็นต้นไปโดยไม่มีข้อยกเว้น และเร่งดำเนินการประมูล4G คลื่นความถี่ 1800 MHz ให้ลุล่วง ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในช่วงเดือน ก.ย.นี้ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว และจะเร่งผลักดันการ บริการโทรคมนาคมพื้นฐานไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ทั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน การประกาศใบอนุญาตดาวเทียม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ