KGI ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดเทรด DW เพิ่มเป็น 30% จาก 10%ในปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 15, 2013 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI)เปิดเผยว่าในปี 56 ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW) เป็น 30% ของตลาด โดยมีปริมาณการซื้อขายของตลาดทั้งหมดอยู่ที่ 800 ล้านบาท/วัน จากปี 55 ที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ 10% ของตลาด ที่มีปริมาณการซื้อขายของตลาดทั้งหมดอยู่ที่ 300-500 ล้านบาท/วัน พร้อมทั้งตั้งเป้าปี 56 ออก DW 105 รุ่น อ้างอิง SET100
" ตอนนี้เราเป็นรองบล.บัวหลวง ที่มีส่วนแบ่งตลาด DW มากกว่า ...ภาพรวมของ DW ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เนื่องจากเคจีไอได้มีการปรับเปลี่ยนสภาพคล่อง(Market Maker) มีการปรับ Bid Offerให้แคบลงเพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้สะดวกขึ้น"นายเจนวิทย์ กล่าว

ในปี 56 เคจีไอ จะมีการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น(Structured Note) โดยอ้างอิงกับราคาหุ้นใน SET50 และดัชนีหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถครอบคลุมทุกมุมมอง ทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าขึ้นหรือลง และมีความผันผวนหรือไม่ผันผวน ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นนั้นมีหลักเกณฑ์จะเน้นลูกค้าที่มีฐานใหญ่ โดยมีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 40 ล้านบาทขึ้นไป และเสนอขายขั้นต่ำอยู่ที่ 5 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นที่ลูกค้าสถาบันและลุกค้ารายใหญ่

นอกจากนี้ เคจีไอเตรียมออก ETF (Exchange Trade Fund) ตัวใหม่ ร่วมกับ บลจ.วรรณ ในไตรมาส1/56 ซึ่ง ETF ที่จะออกนั้นยังไม่มีตลาดและต้องใช้ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ Market Maker อย่างมาก

อีกทั้งยังเน้นขยายขนาดของกองทุนและมูลค่าการซื้อขายของ ETF ในแต่ละวันซึ่งต่างจากกลยุทธ์ที่ผ่านมา โดยดูได้จากกองทุนเปิด ไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 55 ประมาณ 52 ล้านบาท/วัน หรือเติบโตประมาณ 7 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 55 และขนาดของกองทุนที่เพิ่มจาก 2,300 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 55 เป็นเกือบ 6,000 ล้านบาทในช่วงเดือนธันวาคม 55

ส่วนยอดบัญชีนักลงทุนในส่วนหุ้นและTFEXของเคจีไอ ในปัจจุบันอยู่ที่ 4 หมื่นบัญชี แบ่งเป็นนักลงทุนรายย่อย 3.5 หมื่นบัญชี และอีก 5 พันบัญชี เป็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ