KBANK มั่นใจครองตำแหน่งผู้นำในตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ-เอกชนในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 17, 2013 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) คาดว่า ในปี 56 จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังจุกตัวอยู่ในระดับต่ำจึงคาดว่าแนวโน้มภาคเอกชนจะยังคงออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่องหรือประมาณ 4.10 แสนล้านบาท และคาดว่าธนาคารจะรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดไว้ได้

ขณะที่ ในปี 55 การจำหน่ายหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชน ยังคงมีการเติบโตที่ดี โดยปริมาณการจำหน่ายสูงถึง 5.09 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับ 2.46 แสนล้านบาทในปี 54 และธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ใน 2 ลำดับแรกในปี 55 สำหรับ

ด้านการค้าตราสารหนี้ภาครัฐในปี 55 ปริมาณการค้าตราสารหนี้ภาครัฐการเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 26.5 ล้านล้านบาท เนื่องมาจากการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ จากในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เป็น 7 แสนล้านบาทในปี 55

นอกจากนี้ ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงในปี 55 หลังปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ มีส่วนสนับสนุนให้ปริมาณการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2555 ธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนการการค้าตราสารหนี้ภาครัฐในภาพรวมเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 11.5% ของตลาด

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 56 มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 55 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาการคลังของสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องเพดานหนี้ที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดการเงินค่อนข้างมากในระยะอันใกล้ ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสามารถกลับมาขยายตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนยังต้องพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพื่อสนับสนุนการส่งออก ด้านเศรษฐกิจของยูโรโซนยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องสภาพคล่องและความพยายามประคับประคองความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการคลังยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร หลายประเทศในยูโรโซนจึงยังมีความเสี่ยงสูง อาทิ ประเทศกรีซที่ถึงแม้ได้รับการอนุมัติเงินช่วยเหลือในช่วงปลายปี เป็นการแก้ปัญหาทางด้านสภาพคล่องระยะสั้นมากกว่าการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตดี โดยจะได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ประเมินว่าความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อและด้านการเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ความสมดุลมากขึ้นในปีนี้ จึงน่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ 2.75%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ