"เวลานี้เพิ่งผ่านไป 1 เดือนกว่า ตลาดหลักทรัพย์ก็ติดตามดูอยู่ เขากำลังหาข้อมูล มีการติดตามอย่างใกล้ชิด" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ซึ่งได้ตรวจพบการโอนหลักทรัพย์จากบัญชีหนึ่งมายังอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บุคคลคนนั้นสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเพิ่มวงเงินในการซื้อขายหุ้น หรือโอนหุ้นจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเมื่อตรวจพบก็ให้บริษัทหลักทรัพย์หยุดการให้วงเงิน เพราะนอกจากผู้ลงทุนจะเสียหาย บริษัทหลักทรัพย์ก็จะเกิดความเสียหายตามมาด้วย
"มีการโอนหุ้นเพื่อให้ขยายวงเงินบัญชี เราเจอก็ให้หยุดวงเงิน ต้องถือว่าโบรกเกอร์หละหลวม แต่การทำอย่างนี้ก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงของโบรกเกอร์เอง และเราก็ทำประกาศให้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ต้องตรวจสอบบริษัทสมาชิกกันเองให้มีมากขึ้นเป็นพิเศษ ...การทำอย่างนี้เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ให้ระวังตัวเอง" นายวรพล กล่าว
ขณะเดียวกัน ให้บริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉพาะส่วนมาร์เก็ตติ้ง กำชับว่าการแนะนำหุ้นให้ผู้ลงทุนต้องมีบทวิเคราะห์มารองรับ เพราะที่ผ่านมาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นลงแรงเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่มีบทวิเคราะห์ออกมาเลย ดังนั้น ก.ล.ต.ก็อยากขอเตือนทั้งมาร์เก็ตติ้ง และนักลงทุนเองให้ระมัดระวังการซื้อขายหุ้น อย่าซื้อหุ้นตามกระแส
ทั้งนี้ จากตัวเลขนักลงทุนรายย่อยปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 52% ซึ่งมีนักลงทุนกลุ่มใหม่เข้ามาและไม่เคยผ่านบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจ หรือผ่านช่วงตลาดหุ้นผันผวนมาก จึงต้องการให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต. เห็นว่าการขยายระยะเวลาให้ซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance ในหลักทรัพย์ที่การซื้อขายผิดปกติและเข้าข่ายมาตรการ Cash Balance เพิ่มเป็น 6 สัปดาห์ ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 3 สัปดาห์ จะช่วยทำให้ตัวนักลงทุนฉุกคิดก่อนเข้าลงทุน มีความระมัดระวังหรือรอบคอบในการลงทุน และปรับปรุงพอร์ตของตัวเอง อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ควรตื่นตกใจ เพราะมาตรการต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุน