ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร&หุ้นกู้ “บีเอสแอล ลีสซิ่ง" ที่ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 8, 2013 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการก่อหนี้เมื่อเทียบกับทุน และการสนับสนุนด้านการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทยังมีเครือข่ายการให้บริการลูกค้าบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ที่ไม่กว้างขวางพอและการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งการสนับสนุนที่จำกัดอาจกระทบต่อความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทและเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจ

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมทั้งยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ไปด้วย แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ด้วย

บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง ก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ประเทศญี่ปุ่น (SMBC ซึ่งเดิมชื่อ Mitsui Taiyo Kobe Bank) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะในอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาลีสซิ่งและเช่าซื้อ ต่อมาในปี 2547 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปัจจุบันคือกลุ่มธนาคารกรุงเทพซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50% SMBC ถือ 40% และผู้ถือหุ้นอื่นอีก 10% ทั้งธนาคารกรุงเทพและ SMBC ให้การสนับสนุนบริษัททั้งในรูปการให้เงินกู้และการแนะนำลูกค้าให้ส่วนหนึ่ง

ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรของบริษัทลดลงจากลำดับที่ 4 มาอยู่ในอันดับที่ 6 จากจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 11 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งในปี 2554 ทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3,828 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 4,877 ล้านบาทในปี 2553 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 5,255 ล้านบาทในปี 2554 และ 5,429 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ธุรกิจของบริษัทกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว ลูกค้าของบริษัทจึงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ขาดความหลากหลายในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่อื่น ๆ

ในปี 2551 บริษัทได้ปรับปรุงนโยบายด้านบัญชีในการบันทึกค่าเสื่อมราคาโดยเปลี่ยนวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาจากวิธีผลรวมจำนวนปี (Sum of the Year Digit -- SYD) มาเป็นแบบเส้นตรง (Straight line) พร้อมทั้งรวมการประเมินค่าซากในการคำนวณค่าเสื่อมราคา การเปลี่ยนนโยบายค่าเสื่อมราคาดังกล่าวทำให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2551-2552 โดยค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์ให้เช่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

รายได้สุทธิของบริษัท (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ระหว่าง 100-300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2546-2550 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 624 ล้านบาทในปี 2551 และลดลงเป็น 532 ล้านบาทในปี 2552 รายได้สุทธิปรับลดลงสู่ระดับปกติที่ 415 ล้านบาทในปี 2553 และ 412 ล้านบาทในปี 2554 แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคา บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในระดับสูงถึง 48.71% ในปี 2551 และระดับ 27.82% ในปี 2552 ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับปกติที่ 16.43% ในปี 2553

บริษัทมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาทในปี 2553 แต่กลับลดลงเหลือ 54 ล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยยังคงลดลงอย่างมากในปี 2554 สู่ระดับ 5.31% ซึ่งเป็นผลมาจากรายการพิเศษที่เกิดจากการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจากระดับ 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 และปี 2557 โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับลดสิทธิประโยชน์จากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีลงและบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งหากไม่รวมรายการดังกล่าวแล้วก็ถือว่าในปี 2554 บริษัทยังคงมีอัตราการทำกำไรในระดับปกติ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีกำไรสุทธิ 119 ล้านบาท และ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยกลับมาสู่ระดับปกติที่ 14.16% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)

บริษัทมีการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่าที่มีประสิทธิภาพจนทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีในปี 2551 บริษัทมีรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 22%-23% ของรายได้สุทธิ บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 72 ล้านบาทในปี 2549 ระดับ 73 ล้านบาทในปี 2550 และระดับ 32 ล้านบาทในปี 2551 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ล้านบาทในปี 2552 เนื่องจากมีสินทรัพย์ให้เช่าจำนวนมากที่หมดอายุสัญญาเช่าในปีเดียวกันนั้น ต่อมากำไรดังกล่าวลดลงเหลือ 23 ล้านบาทในปี 2553 29 ล้านบาทในปี 2554 และ18 ล้านบาทในงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 หลังจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคา บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าต่อรายได้รวมในสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 2.7%-3.3%ในช่วงปี 2553 ถึงช่วง 9 เดือนแรกปี 2555

บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีแม้จะมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมักมีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง บริษัทมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยในระดับ 1.76% ในปี 2554 แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 2.06% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 แต่ก็นับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนผันให้ธนาคารกรุงเทพยังสามารถคงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่ระดับ 35.88% ต่อไปอีก ซึ่งทำให้ทั้งธนาคารกรุงเทพและบริษัทยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ที่ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งสินเชื่อที่จะให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากกฎระเบียบดังกล่าวทำให้ความยืดหยุ่นใน

การหาแหล่งเงินทุนของบริษัทยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากในอดีตบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้น และเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ออกหุ้นกู้จำนวน 500 ล้านบาทในปี 2554 และออกหุ้นกู้ Shokun Bonds จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกขายในประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 2555 ทำให้ ณ เดือนกันยายน 2555 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้เพียง 4% จากธนาคารกรุงเทพ และ 16% จาก SMBC ของจำนวนหนี้สินรวม 5,329 ล้านบาท บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ บริษัทยังเก็บวงเงินสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพเอาไว้เพื่อใช้เป็นเงินทุนแหล่งสุดท้ายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ