บลจ.ไทยพาณิชย์ ออกกองทริกเกอร์ 7% อายุ 7 เดือน มูลค่าโครงการ 5 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 22, 2013 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ทริกเกอร์ 7% ฟันด์ 4 (SCB TRIGGER 7% FUND 4) อายุประมาณ 7 เดือน เพื่อเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีศักยภาพในการเติบโต โดยป้องกันความเสี่ยงจากตลาดขาลงด้วยการลงทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท และจะเปิดขายไปจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2556 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ทริกเกอร์ 7% ฟันด์ 4 ได้กำหนดเป้าหมายทริกเกอร์ภายในระยะเวลา 7 เดือน คือหากมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 11.00 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกัน และสามารถรับซื้อคืนอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า 10.8145 บาทต่อหน่วย หรือ หาก ณ วันทำการใดก็ตามที่ทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสด และ/หรือเงินฝาก และ/หรือทรัพย์สินอื่นใดที่เทียบเท่าเงินสดบางส่วนหรือทั้งหมด และสามารถรับซื้อคืนอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า 10.8145 บาทต่อหน่วย

บริษัทฯจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติในอัตราไม่ต่ำกว่า 10.8145 บาทต่อหน่วย ภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ทริกเกอร์ อย่างไรก็ตาม หากกองทุนไม่ทริกเกอร์ในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินคงเหลือทั้งหมดหลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้วเมื่อครบกำหนดอายุโครงการ

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยหลักสนับสนุนราคาหุ้น ทั้งในเรื่องของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจากนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล งบลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมที่น่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้มากขึ้นในปีนี้ ตลอดจนงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่วงเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท ถ้าอนุมัติในปีนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องในหลายปีข้างหน้า และด้วยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับไม่สูงมากจะช่วยเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการดี ประมาณการผลกำไรบริษัทจดทะเบียน มีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกอยู่ในระดับสูง และธนาคารกลางหลายประเทศประกาศใช้มาตรการการเงินอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ทำให้น่าจะมีเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังคือเศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในสภาวะถดถอยและฟื้นตัวช้า นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่ยากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่าง ๆ เช่น มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน (Capital control) การออกกฏของตลาดหลักทรัพย์เพื่อจำกัดปริมาณการซื้อขายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ