ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 150 ล้านเหรียญฯ BANPU ที่ “AA-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 25, 2013 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของ บมจ.บ้านปู(BANPU) ที่ระดับ “AA-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมและใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต

อันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า อันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการปรับลดเงินลงทุนและลดต้นทุนในการดำเนินงานในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินชะลอตัวตลอดจนวินัยทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ ราคาถ่านหินที่อ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า BANPU จะยังคงรักษาวินัยทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีไว้ได้ แผนการลดต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับลดแผนลงทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวในภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินไว้ได้ ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน

BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท

โดยในปี 2555 กำไรจากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 8% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 9% มาจากธุรกิจไฟฟ้า

ในปี 2555 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่ม BANPU (ไม่รวมประเทศจีน) คิดเป็นจำนวน 43.1 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 28.5 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 14.6 ล้านตัน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 811 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 593 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตราว 14 ปี

ปัญหาอุปทานถ่านหินส่วนเกินได้กดดันราคาถ่านหินในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การขายถ่านหินบางส่วนตามสัญญาขายถ่านหินระยะยาวในราคาที่สูงทำให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ราคาขายถ่านหินของบริษัทได้ลดลงเป็นลำดับในครึ่งปีหลังของปี 2555 ในขณะที่บริษัทดำเนินการตามแผนลดต้นทุนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากราคาถ่านหินที่อ่อนแอ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินได้ปรับตัวลดลงเป็น 35% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 จาก 44% ในไตรมาสแรกของปี 2555 ขณะที่ราคาขายถ่านหินได้ปรับตัวลง 14.0% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2555 รวมทั้งปี 2555 อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินเฉลี่ยลดลงเป็น 39% จาก 46% ในปี 2554

ธุรกิจไฟฟ้าซึ่งให้ผลกำไรในสัดส่วน 9% ของ EBITDA ในปี 2555 เป็นไปอย่างราบรื่น โรงไฟฟ้าซึ่งใช้ถ่านหินในประเทศจีนมีผลกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2555 อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนดีขึ้นจาก 10% ในปี 2554 เป็น 17% ในปี 2555 ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาถ่านหินที่ลดลง ในปี 2555 ธุรกิจไฟฟ้าในจีนให้ผลกำไร EBITDA จำนวน 41.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 47.7% เมื่อเทียบกับปี 2554

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทยบริษัทถือหุ้น 50% ใน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. -- BLCP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 2,361 ล้านบาทแก่บริษัทในปี 2555 จาก 1,952 ล้านบาทในปี 2554 การเพิ่มขึ้นของกำไรมีสาเหตุหลักมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแล้วบริษัทยังถือหุ้น 40% ในโครงการหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP ที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว โครงการหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 40% และเฟสแรกของโครงการจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2558

แม้ว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวลดลงมากในปี 2555 แต่ EBITDA ของบริษัทลดลงเป็น 29,535 ล้านบาทหรือลดลงเพียง 8% จากปี 2554 เนื่องจากบริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินระยะยาวในช่วงที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ปริมาณขายถ่านหินที่สูงขึ้น กำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า และกำไรจากสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน กำไรสุทธิปี 2555 ลดลงจาก 20,060 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 9,293 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีกำไรหลังหักภาษีจากการขายเหมืองต้าหนิงจำนวน 6,307 ล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) ลดลงเป็น 8.5 เท่าในปี 2555 จาก 10.5 เท่าในปี 2554

หลังจากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างทุนปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 51.6% ในเดือนธันวาคม 2553 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างทุนของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 42.4% ในปลายปี 2554 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 45.7% ในเดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้ เพื่อดูแลรักษาสภาพคล่องทางการเงินบริษัทได้ประกาศปรับแผนการลงทุนสำหรับการพัฒนาและการขยายกำลังการผลิตในช่วง 5 ปีข้างหน้าลงเหลือ 1,248 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ บริษัทได้ทำแผนลดต้นทุน รวมถึงลดอัตรา Stripping Ratio ที่เหมืองอินโดนีเซียด้วย แผนการลดต้นทุนดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานไม่ให้ลดลงมากในภาวะที่ราคาถ่านหินอ่อนแอ

ปัจจุบันบริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 83% ของเป้าหมายปริมาณขายสำหรับปี 2556 โดยประมาณ 55% เป็นการขายที่กำหนดราคาคงที่ จากสมมติฐานราคาถ่านหินอ้างอิง Barlow Jonker Index ที่ระดับ 90-95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันและแผนการลดต้นทุน คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ระดับ 850-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่บริษัทมีกำหนดการชำระหนี้คืนปีละ 350-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานยังเพียงพอต่อแผนการลงทุน การจ่ายปันผลและการชำระหนี้ตามกำหนด

บริษัทมีแผนจะซื้อหุ้นคืนโดยใช้เงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า แผนการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวจะเพิ่มอัตราส่วนการก่อหนี้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าก่อนที่จะมีการขายหุ้นคืน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และเป็นไปตามนโยบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ