บลจ.กรุงไทย เล็งยื่นตั้งกองทุน Infra โรงไฟฟ้า 2 กองปีนี้ พร้อมขยายกองสังหาฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 1, 2013 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทเตรียมยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เพื่อจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน(Infrastructure Fund) กองแรกมูลค่า 2,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 2/56 ซึ่งจะเป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก พร้อมกันนั้น ยังเจรจากับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีก 1 แห่งในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะยื่นขออนุญาตจัดตั้งภายในปีนี้เช่นกัน

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติจาก ก.ล.ต.เพื่อขยายขนาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ไทยคอมเมอร์เชียล อินเวสเม้นท์ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และกองทุน ไทย รีเทล อินเวสเม้นท์ มูลค่า 1.84 หมื่นล้านบาท คาดว่า ก.ล.ต.จะใช้เวลา 3-4 เดือนในการพิจารณา และยังเตรียมยื่นขอจัดตั้งกองทุนอสังหาฯ กองใหม่ที่มีสินทรัพย์เป็นโรงแรม มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/56 โดยบริษัทคาดว่ากองทุนอสังหาฯ ภายใต้การบริหารของบริษัทในปีนี้จะมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท

สำหรับธุรกิจกองทุนรวมไตรมาส 2/56 บริษัทจะเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการ และ Roll Over อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะเปิดกองทุน ETF อิงหมวดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อีก 2 กอง

อนึ่ง ณ วันที่ 15 มี.ค.56 กองทุนของบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 55 ประมาณ 8.10% จากการเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมียอดขาย 4 หมื่นล้านบาท จากกองทุน ETF อิงกลุ่มแบงก์ พลังงานและอาหาร กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ 2 กอง มียอดขาย 4.5 พันล้านบาท กองทุนอ้างอิงเงินเฟ้อมียอดขาย 1.8 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท

นายสมชัย กล่าวว่า บริษัทมองเป้าดัชนีหุ้นไทย(SET Index)สิ้นปี 56 ที่ 1,750 จุด PER ประมาณ 16 เท่า โดย valuation ของตลาดหุ้นไทยยังถือว่าไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรบจ.อยู่ที่ 22% และให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 3% ส่วนกรอบล่างมองไม่น่าต่ำ 1,480 จุด เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยไม่เปลี่ยน กลยุทธ์การลงทุนช่วงที่เหลือของปี การปรับตัวของตลาดหุ้นจากนี้ไปจะเผชิญแรงขายทำกำไรเป็นระยะ ดังนั้น KTAM จะเน้นเลือกหุ้นโดยประเมินมูลค่าหุ้นเทียบเคียงกับปัจจัยพื้นฐาน คุณภาพการทำกำไร ขณะที่ตราสารหนี้ไตรมาส 2 เม็ดเงินลงทุนทั้งเม็ดเงินเดิมและเม็ดเงินใหม่จากมาตรการ QE ของประเทศต่าง ๆ จะยังคงหมุนเวียในตลาดตราสารหนี้ไทย

ส่วนค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ ที่ใช้วิธีเพิ่มสภาพคล่องเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ และญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ