MCOT เล็งจับเข่าหารือรวมโครงข่าย 4 หน่วยงานทำทีวีดิจิตอลหวังลดต้นทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 20, 2013 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท(MCOT)คาดว่าในสัปดาห์นี้ บริษัทจะร่วมหารือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5, กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 และไทยพีบีเอส เกี่ยวกับความร่วมมือในการให้บริการโครงข่ายประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(MUX)ให้เป็น Network เดียวกัน หลังวานนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)มีมติอนุมัติให้ใบอนุญาตโครงข่ายฯ ให้กับ 4 หน่วยงาน

จากนั้นจะเข้าหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการร่วมมือของ 4 หน่วยงานเป็นผู้เช่าโครงข่ายรายเดียวกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและค่าเช่าโครงข่ายในระบบดิจิตอลไม่สูงจนเกินไป อีกทั้ง 4 หน่วยงานก็เป็นของรัฐ รายได้ที่เกิดขึ้นก็ต้องนำส่งให้รัฐอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าทาง กสทช.น่าจะเห็นด้วยในเรื่องนี้ และคาดว่าจะเสนอค่าเช่าโครงข่ายให้กับ กสทช.ได้ภายในเดือน ส.ค.56

"สิงหาคม คาดว่าน่าจะเสนอตัวเลขค่าเช่า ตัวเลขน่าจะนิ่ง ส่งให้กับ กสทช. ...ถ้าของเราคนเดียว 1 MUX เคาะตัวเลขค่าเช่าโครงข่ายประมาณ 60 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งราคาจะสูงกว่าดาวเทียม 6 เท่า แต่ถ้ารวมกัน 4 เจ้า ราคาค่าเช่าจะสูงกว่า 3 เท่าถือว่าถูกลงมา หรืออาจใกล้เคียงกับดาวเทียม และน่าจะครอบคลุมได้ครบ"นายสุระ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวอาจมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อเป็นเจ้าของและผู้บริหารโครงข่ายในระบบดิจิตอล โดย MCOT จะเสนอตัวเข้าไปเป็นผู้บริหารโครงข่าย อย่างไรก็ดี MCOT จะไม่ได้ราคาพิเศษในการเช่าโครงข่าย

นายสุระ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงข่ายโทรทัศน์ระบบอนาล็อกของช่อง 9 ครอบคลุม 97% ทั่วทั้งประเทศ คาดว่าจะแปลงมาอยู่ในระบบดิจิตอลที่จะครอบคลุม 80% แต่อีก 20% จำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มเติม ฉะนั้น ช่วง 2 ปีแรกที่ กสทช.กำหนดให้การครอบคลุมสัญญาณ 50% ในปีแรก และ 75% ในปีที่สอง สามารถทำการปรับปรุงได้เลย แต่ในปีที่ 3 และปีที่ 4 ที่กำหนดการครอบคลุม 85% และ 95% ตามลำดับต้องมีการลงทุนเข้ามาเพื่อให้สัญญาณครอบคลุมตามเกณฑ์

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลจะนำค่าเช่าโครงข่ายเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณและเข้าร่วมประมูลในเดือน ก.ย. 56

นายเจษฎา พรหมจาต หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน MCOT กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับการให้บริการโครงข่ายระบบดิจิตอล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ระบบดิจิตอล รวมประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะที่บริษัทได้กันเงินสำหรับการเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอล 3 ช่อง รวม 1.4-1.5 พันล้านบาทหรืออาจจะมากกว่านั้นบริษัทได้เตรียมวงเงินกู้จากธนาคารธนชาต จำนวน 6 พันล้านบาท และจากธนาคารกรุงไทย 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ว่าจะเข้าร่วมประมูลช่อง HD หรือไม่

ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสดอยู่จำนวน 4.5 พันล้านบาท และหากบริษัทใช้วงเงินกู้ดังกล่าวจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนขึ้นมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 0.5 เท่า จากปัจจุบันไม่มีหนี้สถาบันการเงิน มีแต่หนี้เจ้าหนี้การค้า

*เตรียมปรับผังรายการ ก.ค.

บริษัทเตรียมจะปรับผังรายการใหม่ในเดือน ก.ค.หลังจากมีรายการใหม่หลายรายการไม่สามารถดึงเรทติ้งได้มากนัก ทำให้ส่วนแบ่งผู้ชมของช่อง 9 ลดลงมาที่ประมาณ 7% ในเดือนเม.ย.-พ.ค.56 จากในเดือน ม.ค., ก.พ., มี.ค. อยู่ที่ระดับ 8.1%, 8.2% และ 8.4% ตามลำดับ โดยทั้งปี MCOT ตั้งเป้าส่วนแบ่งผู้ชม 8.5%

ดังนั้น บริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนผังรายการทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อให้มีรายการที่สามารถดึงผู้ชมสูงได้ ซึ่งยอมรับว่ารายการของช่อง 9 ยังมีจุดอ่อนอยู่ อย่างไรก็ตาม การปรับผังรายการก็จะมีการปรับขึ้นค่าโฆษณาเฉลี่ย 3-5% ด้วย

บริษัทยังคงเป้ารายได้ในปี 56 ที่ 6.5 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 5.9 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ