รฟม.เร่งปรับวิธีเปิดประมูลจ้างเดินรถไฟฟ้า เริ่ม 3 สาย ,เสนอสายสีส้มเข้าครม.ปลายปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 15, 2013 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ปรับวิธีการประมูลว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าแบบใหม่ หลังจากพบปัญหาการว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อที่ให้เอกชนเป็นผู้จัดหาระบบรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า รวมระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมทั้งงานเดินรถและซ่อมบำรุง
โดยวิธีการใหม่จะจัดทำ short list เทียบราคาก่อนเปิดประมูล ซึ่งจะเริ่มใช้จากการว่าจ้างเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ , รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

ภายใต้วิธีการใหม่ดังกล่าว คณะกรรมการมาตรา 13 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ของแต่ละโครงการ จะเป็นผู้พิจารณารายชื่อผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อจัดทำ short list โดยอาจจะมี 3 รายจากผู้ผลิตทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางให้กับ รฟม. เพื่อที่จะรู้ราคาที่จะสามารถนำไปคำนวณราคากลางได้ใกล้เคียงกับเอกชนอีกทั้งยังช่วยประหยัดงบในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและตัวรถไฟฟ้า แต่เอกชนที่ประมูลงานได้จะเป็นผู้สั่งซื้อเอง ขณะที่งานบริหารงานเดินรถ กับงานซ่อมบำรุงก็รวมอยู่ในการว่าจ้างเดินรถด้วย

อนึ่ง ที่ผ่านมา บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในการเดินรถสายสีม่วง ล่าสุดต่อรองราคาที่ 8.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ 1 งานระบบรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้ามูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ย 10 ปี รวมเป็น 2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รฟม.จะทยอยจ่ายคืนให้ BMCL ภายใน 10 ปี ส่วนงานที่ 2 คืองานเดินรถและซ่อมบำรุง คิดเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาทในช่วง 30 ปี

ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.ได้เตรียมความพร้อมที่จะประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า และตัวรถไฟฟ้าเบื้องต้น (Primary Selection of M&E Systems including Rolling Stock) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.โดยจัดเตรียมเอกสารแบ่งเป็น 3 กลุ่มอุปกรณ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระบบขบวนรถไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบไฟฟ้ากำลัง (รวมทั้งการนำระบบประกอบรวมกัน (System Integration)) และกลุ่มที่ 3 ระบบเก็บค่าโดยสาร ระบบประตูชานชาลาอัตโนมัติ ระบบ SCADA ที่ใช้ควบคุมระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้า ระบบบจัดการอาคาร และระบบซ่อมบำรุง

นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ รฟม.จะเสนอรูปแบบการประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับงาน 3 กลุ่มอุปกรณ์ให้คณะกรรมการ มาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเปิดให้เอกชนซื้อซองประกวดราคาในเดือน ก.ย.

“รูปแบบจะเหมือนการว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือ ppp gross cost แต่วิธีการจะต้องปรับปรุง เนื่องจากสายสีม่วงเอกชนเป็นผู้เสนอรายละเอียดทั้งหมดโดย รฟม.ไม่ทราบราคากลาง ไม่ทราบยี่ห้อ แต่ต่อไป รูปแบบการประมูลครั้งใหม่ รฟม.จะมีการคัดเลือกระบบจากผู้ผลิตทั่วโลก และเลือกสเปค ทำเป็น short list ที่ต้องใช้เพื่อให้เอกชนที่จะเข้ามาประกวดราคาต้องเลือกใช้ระบบตามที่รฟม.คัดเลือก ข้อดีคือรฟม.จะทราบข้อมูลและราคากลาง ซึ่งในการประกวดราคาจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมประมูลได้ด้วยสอดคล้องกับการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) "นายยงสิทธิ์ กล่าว

อนึ่ง ครม.ได้อนุมัติการว่าจ้างงานเดินรถสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไว้แล้วในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบจากการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายประมาณ 1 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 8 หมื่นเที่ยว/วัน

นายยงสิทธิ์ ยังกล่าวว่า รฟม.จะเสนอ ครม.ขออนุมัติว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต พร้อมกับว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ภายในปีนี้ด้วย โดยจะใช้วิธีการประมูลเหมือนกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ รฟม.จะเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษทย่อยของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ก่อน เพื่อว่าจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทราปราการ และช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในฐานะที่เป็นผู้เดินรถสายสีเขียวในเส้นทางปัจจุบันอยู่แล้ว

นายยงสิทธิ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ รฟม.ได้เจรจาและรับทราบในหลักการร่วมกับ BMCL ผู้ให้บริการถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อในเรื่องที่จะทำสัญญาเดินรถ 1 สถานีจากสถานีบางซื่อ-เตาปูนแล้ว เบื้องต้น รฟม.จะว่าจ้าง BMCL เดินรถ โดยระยะเวลาเป็นไปสอดคล้องตามสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่จะสิ้นสุดปี 72 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องแบกรับภาระค่าแรกเข้าสถานีเดียว ในราคา 16 บาท โดย รฟม.ใช้เงินลงทุน 500-600 ล้านบาทในการสร้างสถานีบางซื่อ-เตาปูน ทั้งนี้ สถานีบางซื่อจะกลายเป็น Hub ในการเดินรถไฟฟ้าต่อไป

ทั้งนี้ ค่าโดยสารในช่วงดังกล่าวทางรฟม.จะเป็นคนกำหนดเอง โดยอาจเก็บค่าโดยสารตามอัตราส่วนของสถานีที่วิ่งให้บริการในอัตราปกติหรืออาจไม่เก็บค่าโดยสารเลยก็ได้ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร เพราะหากดำเนินการตามสัญญาเดิมที่ รฟม.ทำกับ BMCL ผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายเงินค่าแรกเข้าด้วย โดยรายละเอียดทั้งหมดจะต้องเสนอให้ครม.รับทราบ และคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างสถานีเตาปูนได้ต้นปี 58

นอกจากนี้ รฟม.จะขออนุมัติ ครม.ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงินกว่า 115,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ก่อนเสนอเข้ากระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถประกวดราคาต้นปี 57 คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในปลายปี 57 และเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 58 ทั้งนี้ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินจึงทำให้มีค่าก่อสร้างมีราคาสูง

ขณะที่งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู มูลค่าเงินลงทุน 5.8 หมื่นล้านบาท และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาทเช่นกัน จะนำเสนอต่อครม.ได้ในต้นเดือน ส.ค.นี้ และจะเปิดขายซองประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ