"สุกสมบูนกรุ๊ป"ขยายกำลังผลิตธุรกิจปูนซิเมนต์ปักธงรุกตลาดอินโดจีน แต่งตัวรอเข้าตลาดหุ้นลาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 20, 2013 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิตตะกอน สุกสมบูน ผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัท สุกสมบูน จำกัด กล่าวว่า บริษัทแต่งตั้งให้ บล.เอพีเอ็มลาว(APMLAO) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและจัดโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวภายใน 1-2 ปี

ปัจจุบัน ธุรกิจของกลุ่มสุกสมบูน มีทั้งปูนซีเมนต์ ขนส่งและโลจิกติกส์ สถานีบริการน้ำมัน ผลิตและจำหน่ายไม้แปรรูป รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และรกิจขุดค้นแร่ ดูดทรายและหิน แต่ธุรกิจที่คาดว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เร็วที่สุด คือ ธุรกิจปูนซิเมนต์ ซึ่งมีการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายใต้ตราสินค้า“ช้างคำ”ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท PC 52.5 ใช้ก่อสร้างงานโครงสร้างอาคาร งานคอนกรีตที่ต้องการกำลังอัดสูง ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท PC 42.5 ใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป และปูนซิเมนต์ผสม ประเภท PC 32.5 ใช้สำหรับงานฉาบ งานก่อ งานติดกระเบื้อง

ธุรกิจแรกในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่สุด คือ ธุรกิจปูนซิเมนต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย 2 บริษัท คือ บริษัท อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ บี เอ็ม ซี จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี เอ็ม ซี คอนกรีต ขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนในสปป. ลาว 2 บริษัท คือ บริษัท อุตสาหกรรมซิเมนต์ ลาว จำกัด และ โรงงานผลิตซิเมนต์ บีเอ็มซี

นายจิตตะกอน กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนครั้งสำคัญกว่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐในการตั้งโรงงานผลิตปูนเม็ดที่แขวงคำม่วนของ สปป.ลาว ใกล้แหล่งสัมปทานหินปูนมีปริมาณที่สามารถรองรับการผลิตของโรงงานที่มีกำลังการผลิต 5,000 ตันต่อวันได้มากถึง 200 ปี โดยคาดก่อสร้างเสร็จในปี 58 กำลังการผลิต 1.6 ล้านตันต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจซิเมนต์ของไทยเท่านั้น แต่บังมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศรายอื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย

"จุดแข็งเราคือมีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถผลิตปูนได้อีก 200 ปี ตั้งอยู่ที่แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งล่าสุดได้สัญญาจากรัฐบาลลาวให้ก่อสร้างโรงปูนเม็ดที่แขวงคำม่วน ซึ่งจะเป็นหัวเชื้อส่วนผสมของปูนเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งเข้ามาที่โรงงานนครพนม ตลาดหลักคือภาคอีสานตอนบนของไทย 11-16 จังหวัด ซึ่งมีความต้องการปูนราว 5 ล้านตันต่อปี...ที่เราผลิตได้ดีเพราะมีแหล่งแร่หินปูนที่ดีมีแหล่งไฮเกรดที่คูณภาพสูงโดยเฉพาะหินปูนเรามีเขาหินปูนทั้งลูกซึ่งได้รับสัมปทานแล้ว นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่เหล็กและดินเหนียวของเราเอง ก็จะขอสัมปทานเขาหินปูนต่อเนื่องบนพื้นที่ 7000 กว่าไร่ที่เป็นวัตถุดิบในคำม่วนที่ใช้ในการผลิต"นายจิตตะกอน กล่าว

สำหรับโรงงานปูนซิเมนต์ที่กรุงเวียงจันทน์ มีกำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตทั้งหมดในลาว อยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณความต้องการใช้ปูนซิเมนต์นั้นมีมากถึง 3,500,000 ตันต่อปี เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันลาวอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างขนาดพื้นฐานของประเทศเป็นจำนสวนมาก

ส่วนธุรกิจปูนซิเมนต์ในไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานบดปูนที่ จ.นครพนม มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จในราวเดือน เม.ย.-พ.ค.57 ก็จะเริ่มการผลิตได้ กำลังการผลิต 5 แสนตัน/ปี หรือ 1,500 ตัน/วัน หลังจากนั้นจะเพิ่มการผลิตอีก 1 สายการผลิต เพื่อขยับกำลังผลิตเป็น 1 ล้านตัน/ปี โดยขณะนี้ให้บริษัทได้ว่าจ้าง Cemtech ออกแบบเพิ่มเติมอยู่

"บริษัทมองตลาดไทยเป็นตลาดสำคัญเพราะปูนยังขาด ซึ่งปูนที่ผลิตจากนครพนมจะขายเฉพาะในไทย ส่วนที่ผลิตจากลาวก็จะเน้นตลาดลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ไปจนถึงอินโดฯ"นายจิตตะกอน กล่าว

กลุ่มสุกสมบูนคาดว่า รายได้รวมในปี 57 จะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านเหรียญสหรัฐหลังจากโรงงานแห่งใหม่ในนครพนมเริ่มเดินเครื่องได้ จากปีนี้ที่น่าจะทำได้ราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการวางจำหน่ายปูนที่ผลิตจากโรงงานในไทยจะใช้ชื่อตราสินค้า"สิงห์คู่" ส่วนการจำหน่ายปูนซิเมนต์ในลาวจะอยู่ภายใต้ตราสินค้า"ช้างคำ"ผลิตจากโรงงานที่เวียงจันทร์ มีส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ในลาวเป็นอันดับ 1 คือ 60% และในปี 59 หลังจากโรงปูนเม็ดในคำม่วนแล้วเสร็จจะทำให้มาร์เก็ตแชร์สูงขึ้นเป็น 80%

ทั้งนี้ ความต้องการปูนซิเมนต์ของลาวปกติเติบโตปีละ 8-10% แต่หากรัฐบาลกระตุ้นให้สร้างเมืองใหม่ ขยายถนน รวมทั้งการอนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ เชื่อมหัวเมือง ถนนเป็นคอนกรีต และมีการปรับปรุงเขื่อน 60 แห่ง จะทำให้ความต้องการปูนเติบโตเพิ่มเป็นปีละ 25%

นายจิตตะกอน กล่าวว่า จุดเด่นของกลุ่มสุกสมบูนคือระบบโลจิสติกส์ที่ตอนนี้บริษัทในเครือ คือ บริษัท บี เอ็ม ขนส่งสินค้า จำกัด มีรถขนส่งที่เป็นรถพ่วงมากกว่า 250 คัน สามารถเชื่อมโยงการขนส่งจากลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ดี และได้เปรียบคู่แข่งในประเทศไทย ขณะที่ราคาขายปูนซิเมนต์ต่ำกว่าราคาตลาดราว 800 บาท/ตัน ปัจจุบันขายที่ 2,500 บาท/ตัน โดยคุณภาพถือว่าได้มาตรฐานระดับสูง

"คุณภาพ และราคาแข่งขันกันได้เพราะจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ทั้งวัตถุดิบและการขนส่งถูกกว่า เพราะมีรถขนส่ง 250 กว่าคัน ซึ่งเพียงพอต่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าของบริษัท และในอีก 3 ปี จะเพิ่มเป็น 800 คัน"นายจิตตะกอน กล่าว

สัดส่วนรายได้หลักของกลุ่มสุกสมบูนมาจากธุรกิจขนส่ง 70% ธุรกิจปูน 30% แต่หลังโรงงานในนครพนมและคำม่วนแล้วเสร็จ สัดส่วนรายได้จะเป็นปูนซิเมนต์ 70% ขนส่ง 30% ในปลายปี 58 จากปัจจุบันมีโรงปูนอยู่ที่เวียงจันทน์แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี และสินทรัพย์ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินลงทุนจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน ธนาคารการค้ามหาชนของลาว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารทหารไทย (TMB) 256 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ