TSF-W3 เปิดเทรดวันแรกที่ 0.34 บาท สูงกว่ามูลค่าที่โบรกฯให้ไว้ 0.31 บาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 26, 2014 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TSF-W3 เปิดเทรดวันแรกที่ 0.34 บาท ขณะที่เมื่อเวลา 10.02 น.หุ้น TSF อยู่ที่ 0.58 บาท ลดลง 0.01 บาท(-1.69%) มูลค่าซื้อขาย 1.05 ล้าบาท โดยเปิดตลาดที่ 0.59 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 0.59 บาท และราคาลงต่ำสุด 0.58 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์(TSF)ใช้ชื่อ TSF-W3 ด้วยราคาใช้สิทธิที่ต่ำเพียง 0.25 บ. เทียบกับราคาหุ้นแม่ TSF ปัจจุบันที่ 0.59 บ. (25 มี.ค.) ส่งผลให้ผลกระทบ Dilution Effect 20% มีโอกาสสูงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าที่เหมาะสม TSF-W3

จากการประเมินมูลค่าด้วย Black-Scholes Model ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ TSF-W3 ได้ที่ 0.31 บ. คิดเป็น All-in Premium ติดลบ 5.1% มอง TSF-W3 มีความน่าสนใจน้อย เนื่องจากอายุที่น้อยมากเพียง 1 ปี 2 เดือนเท่านั้น และในเชิงปัจจัยพื้นฐานหุ้นแม่ยังไม่สัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี หากบริษัทสามารถเจรจาลดค่าสัมปทานที่จ่ายให้กับกรุงเทพมหานครลงได้ จะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ VGI จะเข้าถือหุ้นเป็นพันธมิตรกับ TSF ซึ่งเป็นกระแสข่าวในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ TSF ในอนาคต อนึ่ง ปัจจุบัน TSF ยังติด Cash Balance ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. - 18 เม.ย. 57

TSF-W3 จำนวนที่ออก 803.44 ล้านหน่วย จัดสรรแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอัตราส่วน 3 : 1 ที่ราคาหุ้น 0.40 บาท โดยจะได้รับ TSF-W3 ฟรี 1 หน่วย โดยมีอัตราใช้สิทธิ 1 : 1 @ 0.25 บาท, อายุ 1 ปี 2 เดือน กำหนดใช้สิทธิได้ทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน ก.พ., พ.ค., ส.ค., พ.ย. (ใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 30 พ.ค. 57 และใช้สิทธิครั้งสุดท้ายวันที่ 14 พ.ค 58 ซึ่งเป็นวันหมดอายุ)

TSF ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และวางแผนด้านการประชาสัมพันธ์รวมทั้งงานด้านสื่อโฆษณาทุกชนิด โดยได้รับสิทธิโครงการดูแลบำรุงรักษาและติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพฯ รวม 1,745 แห่ง อายุสัมปทาน 6-9 ปี นอกจากนี้ ยังมีสัญญาเช่าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานกรุงเทพบริเวณ 8 สถานี รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 5.78 พันตรม. อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน สิ้นสุดเดือน ก.พ. ปี 66

แม้บริษัทจะได้รับสัมปทานป้ายโฆษณาตามศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 55 แต่ผลประกอบการปี 56 ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยยังขาดทุนสุทธิเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และมากขึ้นเป็นจำนวน 320 ลบ. จากที่ขาดทุนเพียง 65 ลบ.ในปี 55 เนื่องจากขายป้ายโฆษณาได้น้อย จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง ส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีการตัดลดหรือชะลองบประมาณด้านโฆษณาออกไป อนึ่ง ณ สิ้นปี 56 บริษัทมีผลขาดทุนสะสม 397 ลบ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ