ก.ล.ต.เล็งจัดทำดัชนีชี้วัด CSR-ต้านคอร์รัปชั่นบจ. ช่วยพัฒนาธุรกิจโตยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 2, 2014 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้วางแนวทางหรือจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนขึ้น โดยได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ จัดทำดัชนีชี้วัดพัฒนาการด้าน CSR และ Anti-corruption ของแต่ละบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดทำ CG Gateway ในรูปแบบ website ที่จะรวบรวมข้อมูลที่ข้องทั้ง CG ,CSR และ Anti-corruption เพื่อให้ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวก ครบถ้วนในทีเดียว

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ จะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 56 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International:IT ) ประเมินประเทศไทยได้คะแนนเพียง 35/100 คะแนน ส่งผลอันดับในปี 56 ลดลงไปอยู่ที่ 102 จากปี 55 อยู่ที่อันดับ 88 จากทั้งหมด 177 ประเทศ และที่ผ่านมามีคดีทุจริตในตลาดทุนทั้งข้อหาการใช้ข้อมูลภายใน (inside trading) รวมถึง ปั่นหุ้น ทั้งสิ้น 382 คดี แต่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เพียง 7% เท่านั้น

ทาง ก.ต.ล. จึงมองการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆอย่างรอบด้าน คำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยการทำธุรกิจปกติของบริษัทให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืนและรับมือกับวิกฤติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายชาลี กล่าวว่า จะเริ่มจากการสำรวจว่าบริษัทจดทะเบียนทำอะไรได้ดีแล้ว เช่น เรื่อง CG อะไรที่ยังทำได้น้อยหรือต้องปรับทิศทางให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น เรื่อง CSR และ Anti-corruption และนำไปสู่การกำหนดกรอบแนวทางที่เน้น 3 เรื่องหลัก คือ (1) CG in substance การพัฒนา CG ซึ้งเน้นที่การปฏิบัติจริง (2) CSR in process การทำให้ CSR หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิบัติในการทำธุรกิจ และ (3) Anti-corruption in practice การให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเป็นแรงผลักดันไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ

ขณะที่การดำเนินการดังกล่าวจะใช้เครื่องมือ 3 ด้าน พร้อมๆกันคือ (1) Regulatory Discipline คือ การออกกฏเกณฑ์ที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ เช่น การกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนรายงานข้อมูล CSR และ Anti-corruption ไว้ในแบบ 56-1 และรายงานประจำปี (2) Market Discipline การสร้างแรงกดดันของสังคม เช่น การที่ IOD จัดทำและเผยแพร่ระดับ CG ของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง การที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ส่งอาสาพิทักษ์สิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและติดตามสอบถามความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งการที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันรวมพลังกันประกาศให้ทราบว่าจะใช้ข้อมูล CG ,CSR และนโยบาย Anti-corruption เป็นปัจจัยในการพิจารณาการลงทุน ส่วนด้าน (3) Self Discipline หรือการที่บริษัทจดทะเบียนมีความตั้งใจสนใจที่จะดำเนินการเรื่องนี้เอง เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันก็มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่เป็นต้นแบบ รวมทั้งสมาคมบริษัทจดทะเบียนเองก็ได้แสดงบทบาทอย่างเข้มแข็ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ