โบรกฯเชียร์"ซื้อ"CK มอง backlog สูงรองรับรายได้ระยะยาว แม้งานใหม่น้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 12, 2014 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.ทรีนิตี้                      ซื้อ                    30.00
          บล.ไอร่า                      ซื้อ                    26.00
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส               ซื้อ                    20.00
          บล.เคเคเทรด                  ซื้อ                    22.44
          บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)         ซื้อ                    19.40

นายดุลเดช บิค นักวิเคราะห์จาก บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า จากที่บริษัทฯได้ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท มองว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากโครงการก่อสร้างต่างๆก็ยังคงเดินหน้าได้ตามกำหนด โครงการหลักๆยังมาจากงานโครงการไซยะบุรี มูลค่าโครงการกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 57 ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ตามแผนการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 62 กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 1,285 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ ครึ่งปีหลังนี้บริษัทฯยังมีแผนที่จะเข้าไปร่วมการประมูลที่คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในปีนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม มูลค่า 26,465 ล้านบาท, รถไฟฟ้ารางคู่ คลอง 19- แก่งคอย มูลค่า 10,805 ล้านบาท และโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่า 48,698 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าโดยรวม 85,968 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีงานก่อสร้างสถานีเพิ่มเติมสายสีเขียว 2 สถานีมูลค่า 2 พันล้านบาท งานก่อสร้างเขื่อนน้ำบากมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท อาจจะมีการเลื่อนการเซ็นสัญญาไปในปี 58 แต่งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางประอินมูลค่า 2.5 พันล้านบาท ยังคงเร่งที่จะเซ็นสัญญาในปีนี้

นางวรรัตน์ เผ่าภคะ นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส คาดการณ์กำไรปกติปีนี้ไว้ที่ 877 ล้านบาท หรือลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากรายได้ค่าก่อสร้างที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะมาจากงานในมือเป็นหลัก ขณะที่คาดอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 10% ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 10.8% จึงส่งผลให้คาดการณ์กำไรปกติปีนี้ ลดต่ำกว่าปีก่อน

ทั้งนี้ CK มี Backlog ณ สิ้นปี 56 อยู่ที่ 1.12 แสนล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า และยังมีงานรอเซ็นสัญญามูลค่า 2.18 หมื่นล้านบาท ได้แก่ งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 มูลค่า 4.75 พันล้านบาท คาดเซ็นสัญญางานก่อสร้างได้ในไตรมาส 3 นี้ เริ่มก่อสร้างได้ทันทีหลังเซ็นสัญญา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำบาก มูลค่าก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท คาดเซ็นสัญญาปลายปี 57 และเริ่มก่อสร้างปี 58

พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มอีก 3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาทที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ คลอง 19 แก่งคอย มูลค่า 1.08 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาแรกมูลค่า 1 หมื่นกว่าล้านบาท เปิดประมูลแล้ว ซึ่ง CK เข้าร่วมประมูลด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติผู้รับจ้าง คาดทราบผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 16 พ.ค.นี้

ส่วนสัญญาที่ 2 มูลค่า 621 ล้านบาท จะให้ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ และโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 4.87 หมื่นล้านบาท คาดขายซองประมูลก่อสร้างประมาณ พ.ค.-มิ.ย.รวมถึงงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่ คูคต มูลค่ารวม 2.64 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทคาดหวังว่าจะได้ส่วนแบ่งงาน 20%-25% ของมูลค่างานที่ยื่นประมูลทั้งหมด

"แม้ภาวะอุตสาหกรรมการก่อสร้างดูชะลอลงในปีนี้ โดยคาดว่าจะไม่มีงานประมูลใหม่ของภาครัฐมากนัก แต่บริษัทยังมี Backlog ที่สูงระดับ 1.12 แสนล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า และรอเซ็นสัญญางานอีก 2.18 หมื่นล้านบาทที่ จึงยังซื้อลงทุนได้"นางวรรัตน์ กล่าว

นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ กล่าวว่า ปัจจุบัน CK มีงานในมือ(backlog)อยู่มากถึง 1.12 แสนล้านบาท ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถประมูลงานใหม่เพิ่มได้เลย แต่บริษัทก็ยังจะสามารถรับรู้รายได้ถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 57-60 และคาดว่ากำไรปกติของ CK ในปีนี้จะทำสถิติสูวสุดใหม่ที่ 1 พันล้านบาท จากการที่ราคาวัสดุ ปูนซีเมนต์ และเหล็กทรงตัว และการรับรู้รายได้จากโครงการที่มีอัตรากำไรสูง อย่างโครงการรถไฟฟ้า MRTA สายสีม่วง และโครงการไซยะบุรีก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้ GPM เพิ่มขึ้น เป็น 10.1%

บริษัทอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาอีก 2 โครงการในครึ่งปีหลัง คือ โครงการน้ำบาก มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 มูลค่า 4.7 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอด backlog เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 แสนล้านบาท และทำให้ยอดรับรู้รายได้ปี 57 เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 3.57 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้า MRTA สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) โครงการรถไฟรางคู่ (คลอง19-แก่งคอย) โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผ่านกระบวนการก่อนการก่อสร้างไปแล้ว รวมถึงการได้รับการอนุมัติผลการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายละเอียดของแบบก่อสร้างแล้ว น่าจะทำให้สามารถเปิดประมูลได้ในเร็วๆ นี้ ที่คาดว่าจะทราบผลการประมูล 3 โครงการภายในครึ่งหลังของปี 57 แต่ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลใหม่ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งหมายความว่างานก่อสร้างใหม่ๆ ของโครงการประเภทโครงการขนาดใหญ่จะยังไม่เริ่มในครึ่งหลังของปีนี้

นางจิตรลดา เลขาพันธ์ นักวิเคราะห์ บล.ไอร่า กล่าวว่า คาดรายได้จากงานก่อนสร้างปีนี้จะอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ซึ่งจะเป็นงานโครงการไซยะบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน และสีเขียวรวมถึงโครงการทางด่วนศรีรัช ขณะที่คาดว่าความสามารถในการทำกำไรยังอยู่ในระดับที่ดี ส่วนอัตรากกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 9.29% ประกอบกับคาดว่ากำไรสุทธิ (จากการดำเนินงานปกติ) จะอยู่ที่ 513 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทฯมี Backlog อยู่ที่ 1.12 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่ายังอยู่ในระดับที่สูง เพียงพอต่อการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปีข้างหน้า ซึ่ง Backlog ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโครงการไซยะบุรี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44% ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า(สีม่วง ส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน และสีเขียว) สัดส่วนประมาณ 34% และทางด่วนศรีรัช อีกประมาณ 18%

ขณะที่ CK ยังมีงานที่อยู่ระหว่างลงนามสัญญาอีก 2 โครงการ มูลค่ารวม 21,750 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำบาก ที่มีมูลค่าประมาณ 4,750 ล้านบาท และ 17,000 ล้านบาท ตามลำดับ ที่คาดสามารถลงนามประมาณครึ่งปีหลังนี้ ถึงต้นปี 58 ซึ่งจะช่วยชดเชย Backlog เดิมที่ทยอยลดลงตามความคืบหน้างานก่อสร้างได้ระดับหนึ่ง และช่วยลดผลกระทบจากประเด็นทางการเมืองที่ทำให้การเปิดประมูลโครงการต่างๆ มีความล่าช้า

นักวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด มองว่า บมจ.ช.การช่าง หรือ CK ยังคงระดับผลประกอบการได้ดีทั้งรายได้เฉลี่ย 7.5 – 8.5 พันล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้ 50% จากงานไซยะบุรี รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะรักษาให้อยู่ในระดับ 10% ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานที่เติบโต อย่างไรก็ดียังมีรายการที่ต้องระมัดระวังคือดอกเบี้ยจ่ายที่สูงยังคงกดดันต่อกำไรสุทธิ

บริษัทมีงานในมือราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับรายได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันภายในปี 57 บริษัทอยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญา มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จากโครงการโรงไฟฟ้า และเขื่อนน้ำบาก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายได้ในอนาคต ให้มีความต่อเนื่อง แม้ว่าในปีนี้จะยังไม่ได้รับงานเพิ่มเติมจากภาครัฐ

"ผลกระทบจากงานภาครัฐที่ล่าช้าจำกัดกว่ากลุ่ม เนื่องจากมีงานในมือรอบันทึกรายได้ต่อเนื่องจากภาคเอกชน และมีโอกาสเซ็นสัญญาโครงการใหม่ภายในปี 57 ราว 2 หมื่นล้านบาทช่วยเพิ่มงานในมือ และคาดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ CK จะมีความน่าสนใจเพิ่มจากโอกาสรับงานภาครัฐ"นักวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด กล่าว


แท็ก เคจีไอ   ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ