ก.ล.ต.หารือคสช.ผลักดันรสก.ใช้ช่องทางตั้งกองทุนหาเงินพัฒนาประเทศ,คาดเห็น กฟผ.รายแรกปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 9, 2014 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า ขณะมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่สามารถระดมทุนผ่านการตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(REIT) หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(infrastructure fund) โดยจะต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีทรัพย์สินอยู่ในมือและสามารถมาบริหารให้มีรายได้ขึ้นมา อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทร.) บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT หรือ ทอท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)

ทั้งนี้ นายวรพล คาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้เห็นการจัดตั้งกองทุน infrastructure fund ของ กฟผ.หลังจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมที่หารือกันมาหลายครั้งแล้ว

"ก่อนหน้านี้เราก็ได้พูดคุยกับ กฟผ.มาหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และปีนี้เราคาดว่าอาจจะได้เห็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ."นายวรพล กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ก็ได้เข้าไปพูดคุยหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เกี่ยวกับแนวทางการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วยการจัดตั้ง infrastructure fund และการจัดตั้งกอง REIT เพื่อจะนำเงินที่ได้มาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ในการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเปิดในปี 58 นี้

"เรามองว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเป็นคอขวด ซึ่งการลงทุนที่รวดเร็วนั้นจะต้องมีการใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก หากใช้งบประมาณปกติก็จะเกิดขึ้นช้า และเงินก็ไม่เพียงพอ หรือเป็นการก่อหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันก็ค่อนข้างจำกัดแล้ว หากสูงกว่านี้ก็จะเริ่มเข้าไปจุดที่เริ่มเป็นอันตรายแล้ว เราจึงได้เข้าไปพูดกับ คสช.ในเดือนที่ผ่านมาเพื่อจะเสนอการใช้กลไกทางด้านตลาดทุนให้ระดมทุนได้รวดเร็วและทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานขึ้นรวดเร็วเตรียมรับการเปิด AEC ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าแล้ว ซึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก คสช.หลังจากนี้ก็จะมีการนัดหารือกันอย่างต่อเนื่อง"นายวรพล กล่าว

นายวรพล กล่าวเพิ่มเติมถึงการชักชวนบริษัททั้งในประเทศจีนและในประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยนั้น ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทจากจีนเริ่มเข้ามาติดต่อกับที่ปรึกษาทางการเงินของไทยแล้ว มองว่าเป็นผลมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีข้อดีในหลายๆด้าน อาทิ ตลาดมีสภาพคล่องค่อนข้างมาก และมีฐานนักลงทุนที่หลากหลาย ส่งผลให้บริษัทต่างๆมีความสนใจที่จะมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น จะต้องทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้ อาทิ ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็นสากล ตามที่ทาง ก.ล.ต.กำหนดไว้ และบริษัทจะต้องมีกรรมการคนไทยอยู่ในบริษัทด้วย นอกจากนี้ บริษัทจะต้องมีระบบการจัดการองค์กรที่ได้มาตรฐานสากล รวมไปถึงบริษัทที่อยู่ในประเทศนั้นๆ จะต้องมีความร่วมมือกันกับประเทศไทยด้วย

"ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นของไทยมีความน่าสนใจค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพคล่องค่อนข้างสูง และมีความหลากหลายของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน ทำให้บริษัทต่างประเทศสนใจที่จะมาจดทะเบียน และจากที่เราได้ติดตามสอบถามพบว่าเริ่มมีบริษัทติดต่อหา FA ของไทยแล้ว ต่อจากนี้ก็คงจะเป็นเวลาในการเตรียมความพร้อม และศึกษาข้อมูลต่างๆเพื่อที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ แต่การที่บริษัทต่างประเทศจะเข้ามาจะทะเบียนในไทยจะเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัทด้วย"นายวรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ