คมนาคมเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดหลัง 10 พ.ย.ได้ข่าวดีจีน-ญี่ปุ่นร่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 27, 2014 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามกรอบยุทธศาสตร์ ปี 2558 - 2565 งบประมาณเบื้องต้นมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 5 แผนงาน ได้แก่ แผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง, แผนงานการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกทม.และปริมณฑล, แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน, แผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งอากาศยาน

กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญโครงการรถไฟทางคู่ โดยเทงบประมาณถึง 1.6 ล้านล้านบาท ระยะเร่งด่วนมี 6 เส้นทาง ที่มีขนาดราง 1 เมตร รวมระยะทาง 903 กม. วงเงินลงทุน 129,308 ล้านบาท ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลอง 19 -แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. คาดว่าปลายปีนี้จะประกาศผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 58 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 61

ส่วนเส้นทางชุมทางถนนจิระ(โคราช)-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. และประจวบคีรัขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. สองเส้นนี้อยู่ระหว่างการนำเสนออนุมัติโครงการจากครม.

ที่เหลืออีก 3 เส้นอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คือ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. และเส้นทาง นครปฐม- หัวหิน ระยะทาง 165 กม.

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 8 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,626 กม. อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดในปีงบประมาณ 2558 ได้แก่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ , ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฏรํ์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา , หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60 และสร้างแล้วเสร็จในปี 62-63

ส่วนโครงการพัฒนาทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีความเร็ว 180 กม./ชั่วโมงหรืออาจจะเทียบได้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลก่อน เริ่มต้นมี 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 512 กม., กรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. และ นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 335 กม. รวมระยะทาง 1,060 กม. คาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 59-60

นอกจากนี้ ยังเส้นทางเพิ่มเติมได้แก่ ช่วง หนองคาย-สระบุรี-ระยอง และช่วงสระบุรี-กรุงเทพ ,ส่วนเส้นทางที่ 2 จะเป็นสายใต้ จากกรุงเทพ-หาดใหญ่ -ปาดังเบซาร์ และสายเหนือ (เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี) และในกรอบยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ได้ขออนุมัติที่จะดำเนินการเพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ แนวจากตะวันตก-ตะวันออก (East - West Corridor) ของไทย และ เส้นทางอีสานบน-อีสานใต้ โดยจะต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเสนอ ครม. ขออนุมัติต่อไป

รมว.คมนาคม กล่าวว่า เริ่มดำเนินการรายละเอียดของแผนงานในปี 58 และนำเสนอครม.เพื่อขออนุมัติในปี 58 จากนั้นจะประกวดราคาและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 59 ซึ่งจะมีระยะเวลาก่อสร้างภายใน 4 ปี หรือจะเริ่มให้บริการได้ในปี 62-63 ประกอบกับ ความช่วยเหลือทั้งของประเทศจีน และญี่ปุ่น ในโครงการนี้

"หลังวันที่ 10 พ.ย. หรือการประชุมเอเปค ที่จีน จะได้ข่าวดี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นก็มาพบแล้ว" รมว.คมนาคม กล่าว

*เตรียมอนุมัติลงทุนรถไฟฟ้าอีก 6 สายแก้ปัญหาจราจรกทม.-ปริมณล

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า วันนี้ มีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติก่อสร้างแล้ว และอยู่ระหว่างการประกวดราคาก่อสร้าง คือ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. และสายสีแดง ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10 กม. ส่วนเส้นทางที่กำลังก่อสร้างได้แก่ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ คาดว่าจะเดินรถได้เร็วกว่าแผนจากปี 60 มาเป็นปี 59 และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. จะสร้างเสร็จในปี 62 แต่มีความเป็นไปได้งานจะเสร็จเร็วขึ้น 1 ปี ขณะที่สายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต งานก่อสร้างล่าช้าทั้งสัญญา 1 และสัญญา 2 ส่วนสัญญา 3 ได้แก้ไขแบบเสร็จและจะนำเสนอของบเพิ่มเติมจากครม.ในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้โครงข่ายที่ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว6 เส้นทาง และอยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติก่อสร้างและประกวดราคา รวมระยะทาง 144 กม. ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงศุนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กม., สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยทาง 36 กม., สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.,แอร์พอร์ตลิ้งค์ ดอนเมือง- บางซื่อ-พญาไท ทาง 21.8 กม., สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก ระยะทาง 25.5 กม. , สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต ระยะทาง 10 กม. และยังมีอีกโครงการศึกษาออกแบบเพิ่มเติมอีก 1 เส้นทางคือ บางแค-พุทธมณฑล ระยะทาง 8 กม.

*ขยายท่าอากาศยานหลัก

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่ใช้งบ 6.2 หมื่นล้านบาท รวมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ หรือ Multi terminal ด้านทิศเหนืออาคารเทียบเครื่องบิน A พร้อมระบบโมโนเรลของบมจ.ท่าอาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท.วงเงิน 2.9 ล้านบาทแทน รวมทั้งทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) วงเงิน 1.9 ล้านบาทเพิ่มด้วย ทั้งนี้จะรองรับผู้โดยสารได้ 15-20 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารราว 50 ล้านคน/ปี นอกจากนี้ก็มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาไว้สำรองในอนาคต

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้ให้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารและทางลานจอดและทางวิ่งเพื่อจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 25-26 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันมี 18 ล้านคน/ปี คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 58-59

ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต ได้อยู่ระหว่างการหาที่ดินอยู่ตรงข้ามกับสนามบินในปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่าท่าอากาศยานภูเก็ตจะรองรับไม่พอ รวมทั้งยังให้สนามบินกระบี่เป็นสนามบินสำรองกรณีที่สนามบินภูเก็ตรองรับไม่ไหว

*ขยายทางหลวงเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านในแผน มี 4 เส้นทางที่เริ่มสร้างในงบปี 58 เริ่มที่เส้นทาง ตาก-แม่สอด ระยะทาง 25.5 กม. วงเงินรวม 1.4 พันล้านบาทโดยใช้งบปี 58 จำนวน 280 ล้านบาท , อำเภอโพนพิสัย-บึงกาฬ ระยะทาง 30 กม. วงเงินรวม 1.2 พันล้านบาท , กาฬสินธุ์-อำเภอสมเด็จ ระยะทาง 11 กม.วงเงินรวม 470 ล้านบาท และ ตราด-หาดเล็ก ระยะทาง 35 กม. วงเงินรวม 1.4 พันล้านบาท

นอกจากนี้มีโครงการขยายผิวจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง จะเริ่มสร้างในไตรมาส 2 ของงบปี 58 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด ที่จะเร่งให้เปิดประมูลให้เร็วขึ้นในปี 59

ขณะที่โครงการพัฒนาระบขนส่งสาธารณะ ด้วยการจัดซื้อรถประจำทาง NGV จำนวน 3,183 คัน โดยเฟสแรก จำนวน 589 คัน จัดซื้อได้ในเดือนม.ค.-มี.ค.58 และเฟส 2 คาดว่าจะมีการจัดซื้อ 2,000 คัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ