TBANK ปรับเป้าสินเชื่อปีนี้เป็นทรงตัวจากปีก่อน จากคาดโต 7%,ปีหน้าโต 5% เน้น SMEs

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 4, 2014 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุวัติร์ เหลือทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ-กลยุทธ์และการเงิน ธนาคารธนชาต (TBANK) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 57 ขยายตัวใกล้เคียงจากปีก่อน จากเดิมที่คาดว่าสินเชื่อรวมจะขยายตัวได้ในระดับ 7% เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ (Hire Purchase) หดตัวลง ซึ่งธนาคารมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรถยนต์มากที่สุดอยู่ที่ 55% จากพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด จากการที่ภาพรวมของอุตสากรรมรถยนต์ในปีนี้อยู่ในสภาวะที่ซบเซา ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทำให้กำลังซื้อหายไป อย่างไรก็ตามสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังมีการเติบโตได้ดี

ทั้งนี้ในสิ้นปี 56 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ราว 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างในปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนเช่นกัน ขณะที่อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ 3%

สำหรับประมาณการเติบโตของสินเชื่อในปี 58 คาดว่าจะมีการขยายตัวได้ที่ระดับ 5% จากปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งธนาคารจะเริ่มรุกสินเชื่อ SMEs มากขึ้น ซึ่งยังมีโอกาสในการเข้าไปทำตลาดอยู่มาก โดยในปี 58 สัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อมจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบันที่มีสัดส่วนที่ 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามในปี 58 พอร์ตสินเชื่อรถยนต์จะลดลงต่ำกว่า 50%

"สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทที่มีสัดส่วนมากที่สุดเป็นสินเชื่อที่มีอายุนานพอสมควร การที่ปีหน้าสัดส่วนลดลง เพราะว่าเวลาลูกค้าชำระหนี้ ยอด outstanding ของสินเชื่อรถยนต์มันก็ลดลงไปและภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยังไม่ดีขึ้น ก็คาดว่าสินเชื่อรถยนต์อาจจะเติบโตได้ค่อนข้างช้า ทำให้สัดส่วนมันก็ไม่เพิ่มขึ้น"นายอนุวัติร์ กล่าว

ทั้งสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันแบ่งเป็น สินเชื่อรถยนต์ 55%, สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ 30%, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 10% และสินเชื่อรายย่อยและอื่นๆ 5%

ส่วนระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 57 คาดว่าจะอยู่ไนระดับมากกว่า 4% โดย ณ สิ้นไตรมาสมาส 3/57 ระดับ NPL ของธนาคารอยู่ที่ 4.5% สำหรับปี 58 ธนาคารจะพยายามคุมระดับ NPL ให้ต่ำกว่า 4%

"ที่ NPL ปีหน้าเราจะคุมให้ต่ำกว่า 4% เพราะเราจะมีการขายหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่เห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา NPL ของธนชาตหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากต้นปีและจะเริ่มต่ำลงซึ่งจะเห็นอย่างชัดเจนในปีหน้า และในปีหน้าการตั้งสำรองฯของธนาคารก็จะลดลงไม่ถึง 1% ของพอร์ตสิเชื่อ เพราะเรามีการคุม NPL ให้ลดลง โดยตอนนี้เราตั้งสำรองอยู่ที่ 1% ของพอร์ตสินเชื่อรวม"นายปนุวัติร์ กล่าว

ด้านนายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีหลักประกันและธุรกิจเงินฝาก TBANK เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อของธนาคารในปี 57 ยังคงชะลอตัว เนื่องจากมาตรการคืนภาษีรถคันแรก ส่งผลให้มีดีมานด์หรือความต้องการซื้อรถถูกใช้ไปก่อนล่วงหน้าแล้วแต่หากเทียบกับปี 54 ถือว่าเติบโต 2% โดยมียอดคงค้างที่ 4 แสนล้านบาท

"ปีนี้ที่ไม่โตต้องยอมรับว่าจากรถคันแรก ทำให้ดีมานด์ถูกดึงไปใช้แล้ว โดยยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาท โดยยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1"นายประพันธ์ กล่าว

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มเช่าซื้อนั้นมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.4% และคาดว่าสิ้นปีจะใกล้เคียงที่ระดับ 2% เนื่องจากธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เช่น มีการปรับเพิ่มวงเงินดานจากช่วงที่มีการแข่งขันสูงจากปกติ 5-10% เพิ่มขึ้นเป็น 15% รวมทั้งมีการบริหารจัดการหนี้เสียและการปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนสถานการณ์การยึดรถนั้นมีปริมาณค่อนข้างน้อยลง เพราะธนาคารมีการผ่อนปรนให้กับลูกค้า เช่น การยืดเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันในแต่ละเดือนพบว่า มีลูกค้ามาขอผ่อนปรนการชำระหนี้ประมาณ 1% ของสินเชื่อทั้งหมด

ทั้งนี้ธนาคารมองว่ากลุ่มเช่าซื้อจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงกลางปี 59 ส่วนการดำเนินธุรกิจในปี 58 นั้น ธนาคารคาดว่าเคมเปญรถแลกเงินจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนรถแลกเงินรวมรถเก่า 30% และรถใหม่ 70% ซึ่งธนาคารยังคงเป้าหมายสัดส่วนนี้ต่อไป

ด้านนายสนอง คุ้มนุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เครือข่ายลูกค้ารายย่อย TBANK เปิดเผยว่า ในปี 58 ธนาคารจะรุกตลาดธุรกิจขนาดย่อม (SMEs)โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 5 พันล้านบาท หรือเติบโตที่ระดับ 2 หลัก จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่ส่งผลให้ธนาคารปรับกลยุทธ์มารุกเอสเอ็มอีมากขึ้น เนื่องจากมองว่ากลุ่มดังกล่าวยังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ และมีความต้องการสินเชื่อและสภาพคล่องเพื่อขยายธุรกิจจำนวนมาก โดยวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารจะปล่อยนั้นประมาณรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี

ทั้งนี้มองว่ากลุ่ม SMEs เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ธนาคารยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมีฐานลูกค้าเพียง 20,000 รายเท่านั้น ส่งผลให้ยังมีโอกาสในการขยายตัวของสินเชื่อได้แน่นอน

"เราพยายามเจาะกลุ่มนี้เพราะเขายังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ถ้าเราไม่ปล่อยเขาจะเอาเงินจากไหนมาขยายกิจการ เราพยายามช่วยเต็มที่ ผ่อนปรนอะไรที่มันเข้มจนเกินไป"นายสนอง กล่าว

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่น่าสนใจ และคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ในอนาคต คือ กลุ่มอพาร์ตเม้นท์ วัสดุก่อสร้าง และร้านอาหาร

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TBANK เปิดเผยว่า ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้การขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคทั้งภายในประเทศและการเชื่อมต่อกับภูมิภาคมีปริมาณมากขึ้น ธนาคารจึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในทุกด้าน ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ การลงทุน ประกันภัย ประกันชีวิต และการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยธนาคารได้กำหนดทิศทางและนโยบายในปีหน้าที่จะขยายการให้บริการด้านสินเชื่อที่ครบถ้วน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในสินเชื่อธุรกิจ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ และในระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อรายย่อยลูกค้าอื่นๆ ขณะเดียวกันยังคงมุ่งมั่นในการรักษาจุดแข็งการเป็นที่หนึ่งในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเน้นช่องว่างทางการตลาดในกลุ่มที่ยังมีศักยภาพอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์รถแลกเงิน เป็นต้น รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือและพันธมิตร ทั้งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันภัย การลงทุนในหลักทรัพย์ กองทุนรวม ให้แก่ลูกค้าของธนาคาร

ในปี 57 ที่ผ่านมาธนาคารได้ทยอยนำระบบงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่พัฒนาแล้วเสร็จมารองรับการทำงานเป็นลำดับ เช่น ด้านข้อมูลเพื่อการให้บริการลูกค้า (Customer Relationship Management) ด้านบริหารความเสี่ยง (Credit Scoring) ตลอดจนด้านการอนุมัติสินเชื่อ (Loan Origination) ทำให้การอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้ามีความถูกต้องรวดเร็ว และสามารถให้คำแนะนำในผลิตภัณฑ์และบริการที่จะทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธนาคาร

ส่วนปี 58 ธนาคารจะลงทุนพัฒนายกระดับความสามารถของบุคลากรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าทีมงานของธนาคารในทุกระดับมีความรู้ความสามารถที่แท้จริงในการเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น และตรงตามความต้องการของลูกค้า ตลอดจนสร้างให้ทีมงานมีจิตใจในการให้บริการ รับฟัง และความเอาใจใส่ในทุกความต้องการของลูกค้า โดยดำเนินการภายใต้กลยุทธ์การฝึกอบรมด้านเทคนิคที่เหมาะสมกับงานแต่ละด้าน (Classroom Training) ระบบพนักงานฝึกหัดด้วยการปฏิบัติงานจริง (On the job Training) การกำกับการปฏิบัติงานและการสอนงาน (Coaching) โดยจะมีการประเมินผลและติดตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น ระบบ E-LEARNING เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในวงกว้าง นอกจากนี้ปีหน้าจะเป็นปีที่สำคัญที่ธนาคารจะผลักดันระบบ Digital Banking และ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก (SME-S) และมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ด้านนายปีเตอร์ เบสซี่ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TBANK กล่าวว่า ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารที่มีความพร้อมอย่างยิ่ง เพราะมีความเข้าใจลูกค้าในประเทศขณะเดียวกันก็มีสโกเทียแบงก์ ธนาคารที่มีความมั่นคงแข็งแรงระดับต้นๆของโลกที่พร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การพัฒนาระบบ Digital Banking โดยจะพัฒนาระบบ Internet Banking และ Mobile Banking จากระบบของสโกเทียแบงก์ที่มีความปลอดภัยของระบบ (System Security) ในระดับโลก มาปรับใช้กับธนาคารธนชาตในปีหน้า ซึ่งเมื่อผสมผสานกับความเชี่ยวชาญทางการเงินในประเทศของธนชาต จะทำให้ธนาคารธนชาต สามารถให้บริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก และประหยัด และตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

นายปีเตอร์ กล่าวต่อว่า มีโอกาสอีกมากที่ธนาคารธนชาตจะสามารถเสนอบริการที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก (SME-S) เนื่องจากในประชากรกว่า 65 ล้านคนของประเทศไทยนั้น เกือบ 60% ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทั้งที่เป็นธุรกิจระดับครัวเรือน หรือที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดเป็นธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ธนาคารจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SME-S ซึ่งเป็นสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทขึ้นมาเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ เน้นการอนุมัติที่รวดเร็ว บริการที่สะดวกผ่านช่องทางสาขาที่ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศเป็นหลัก ซึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SME-S ประเภทนี้ จะเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของธนาคารที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาด ซึ่งสโกเทียแบงก์เคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ จึงเชื่อว่าถ้านำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้ก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในประเทศไทยด้วย

นายสมเจตน์ และ นายปีเตอร์ ร่วมกล่าวสรุปด้วยความเชื่อมั่นว่า ธนาคารธนชาตมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดเนื่องจากธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและออกแบบเฉพาะให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างลงตัว ครบวงจร มีสาขามากเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศกว่า 600 แห่ง รวมกับ ตู้ ATM, Direct Sales, และระบบ Digital Banking ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ และธนาคารยังมีระบบการจัดการการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเที่ยงตรงผนวกกับบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญและมีใจพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากบริการที่ดีที่สุด สะดวกและรวดเร็วของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ