ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 343,113 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 17, 2014 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (10 – 14 พฤศจิกายน 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 343,113 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 68,623 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 16% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 67% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 230,832 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 68,643 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 9,369 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 4.6 ปี) LB15DA (อายุ 1.1 ปี) และ LB21DA (อายุ 7.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 13,422 ล้านบาท 10,218 ล้านบาท และ 10,022 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTEP196A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 864 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) รุ่น GLOW218A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 662 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น HMPRO159B (A+) มูลค่าการซื้อขาย 610 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ลดลง ประมาณ 0.05% - 0.10% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 1.5% โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และเศรษฐกิจไทยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าอาจจะต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นหลัก ทั้งนี้ ธปท. พร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหากมีความจำเป็น การประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยของ ธปท. มีส่วนทำให้นักลงทุนคาดการณ์ถึงทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศไทยที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ (เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) และสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้ว การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีนในเดือน ต.ค. ที่ไม่ดีมากนัก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 32 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ผู้กำหนดนโยบายจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากมีความจำเป็น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรติดตาม เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของไทย ดังนั้น การตัดสินใจด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน จึงอาจมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาข้างหน้าได้

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 พ.ย. 57) เงินต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) 1,024 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ