GPSC หวังระดมทุนจากขายหุ้น IPO ราว 6-8 พันลบ.พร้อมเข้าตลาดหุ้น Q1/58

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 12, 2014 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท(PTT) ในฐานะประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ GPSC อยู่ระหว่างเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ภายในเดือน ม.ค.58 โดยบริษัทมีความพร้อมกระจายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO )ในเดือน ก.พ.58 หรือไตรมาส 1/58 แต่จะดำเนินการได้เมื่อใดขึ้นกับคณะกรรมการบริษัทและจังหวะที่เหมาะสมของตลาดหลักทรัพย์

บริษัทคาดว่าจะระดมทุนจากการเสนอขาย IPO จำนวน 6-8 พันล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 1 พันเมกะวัตต์ที่เป็นโครงการมีความเป็นไปได้ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะลงทุนโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศที่มีโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เน้นกลุ่ม CLMV

นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยกำหนดนโยบายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 20% ของกำลังการผลิตรวม

"GPSC กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น วันนี้ได้เป็นบริษัทมหาชนแล้วเมื่อปลายเดือน พ.ย. GSPC จะเป็นบริษัทพลังงานรูปแบบใหม่ของกลุ่ม ปตท.เป็นสายสาธารณูปโภคที่สำคัญเป็นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่น่าจะเป็นอันดับแรกๆ ของปี 58 หลังจากที่ไม่มีบริษัทใหญ่เข้าตลาดหุ้นมานาน...GPSC จะเป็นทางเลือกอีกอันหนึ่งที่นักลงทุนต้องการหุ้นมีความเสี่ยงน้อยและมีรายได้สม่ำเสมอ"นายสุรงค์กล่าว

นายสุรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศแสดงความสนใจจะเข้าลงทุนในหุ้น GPSC แล้ว

ทั้งนี้ GPSC เป็นธุรกิจที่จะกระจายการใช้เชื้อเพลิงต่างๆได้หลายชนิด โดยกลุ่ม ปตท.ก็มีเหมืองถ่านหินกำลังการผลิต 10 ล้านตัน/ปี โดยบริษัทได้จับมือกับการไฟฟ้าอินเตอร์เนชั่นแนลเข้าดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองมะริดในพม่า กำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันกลุ่ม บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ได้ยื่นข้อเสนอเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปจากทางการพม่าในช่วงปลายปี 58

ปัจจุบัน GPSC มีสินทรัพย์รวม 4 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) สัดส่วน 30.10% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สัดส่วน 30.31% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) สัดส่วน 11.8% และ บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ ถือ 27.71%

นายสุรงค์ กล่าวอีกว่า ในปี 58 ปตท.ยังเตรียมขายหุ้น บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP)ที่ถืออยู่ 27.22% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการ BCP และจะขายหุ้นโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม(SPRC) แต่เนื่องจากระยะนี้ธุรกิจโรงกลั่นไม่ค่อยดีนัก จึงต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ