บพ.ยืนยันสายการบินพาณิชย์ได้มาตรฐานปลอดภัย ICAO ไม่มีสิทธิตรวจ-ห้ามบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 10, 2015 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวยืนยันสายการบินพาณิชย์ของไทยได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเป็นการตรวจสอบของกรมการบินพลเรือน ขณะที่องค์กรรับรองมาตรฐานการบินพลเรือนนานาชาติ (The International Civil Aviation Organization- ICAO)ไม่มีสิทธิตรวจสอบสายการบินพาณิชย์ และไม่มีสิทธิสั่งห้ามทำการบินในประเทศอื่น เพราะถือเป็นอำนาจการตรวจสอบภายในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ กรมการบินพลเรือนได้ออกใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและตรวจสอบให้สายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยบทุกปี โดยปัจจุบันมี 10 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ อีก 10 สายการบินทำการบินในประเทศและให้เช่าเหมาลำ ส่วนสายการบินเป็นการขนส่งสินค้า (Cargo)มี 1 สายการบิน

"ยืนยันว่ากรมการบินพลเรือนได้ตรวจสอบผู้ประกอบการ เช่น การบินไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานไทย โรงซ่อมหรือหน่วยงานที่ให้การอบรมด้านการบิน กรมการบินพลเรือนได้ให้ใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ขณะนี้ก็บังไม่มีรายใดที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย"อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าว

สำหรับกรณีที่ ICAO ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมมาตรฐานการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการบินพลเรือนในระดับสากลได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน เมื่อวันที่ 19-30 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะแจ้งข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ(SSC) ในวันที่ 14 ก.พ. เป็นการแจ้งภายใน ซึ่งไทยต้องดำเนินการตอบรับและแสนอแผนดำเนินการแก้ไขให้ ICAO พิจารณาภายใน 15 วันจากวันที่แจ้ง

จากนั้น ICAO จะประเมินแผนการดำเนินงานที่ไทยเสนอและส่งหนังสือยอมรับแผนการดำเนินงาน เพื่อให้ไทยดำเนินการให้เป็นไปตามแผน แต่หากไทยแก้ไขไม่ได้ตามแผน ICAO จะส่งหนังสือแจ้งเพื่อที่จะประกาศแก่สาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ ICAO

"ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ หรือยังไม่เพียงพอ ICAO ก็จะประกาศต่อสาธาณะในวันที่ 30 พ.ค. 58 ถ้าแก้ไม่ได้ ICAO ก็ไม่มีการกำหนดระดับใดบินไม่ได้ เพียงแต่ต้องการให้ประเทศสมาชิกทำตามมาตรฐาน แต่ไม่มีข้อห้ามทำการบิน ไม่มีการจัดอันดับ ไม่มีการตำหนิ...ICAO ใช้ตรรกะที่ว่าถ้า Regulator ไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงว่า Operator ก็ไม่แข็งแรง แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ปลอดภัย"อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าว

ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิก 191 ประเทศ และที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานอื่น แต่สายการบินของประเทศนั้นๆทำการบินได้ ส่วนไทย ได้รับการตรวจจาก ICAO มา 2 ครั้งแล้ว เมื่อปี 52 และ ปี 54

นายสมชาย คาดว่า ประเด็นที่ ICAO จะให้ไทยแก้ไขมี 3 ประเด็น ได้แก่ การที่กรมการบินพลเรือนรวมทังงานกำกับกิจการและการบริหารจัดการไว้หน่วยงานเดียวกันจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน, การแก้ไขกฎหมายและเบียบ ที่จะทำแผนภาคผนวก 19 ภาค และ แก้ไขบุคคลากรของบพ.ที่น้อยเกินไป รวมทั้งอัตราผลตอบแทนที่จูงุใจมากกว่านี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับแจ้งจากการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี 54 โดยได้ดึงผู้เชี่ยวชาญการบิน เช่น ครูฝึกสอนการบินของการบินไทยที่เกษียณแล้วเข้ามาเพิ่ม 10 อัตรา แต่ผลตอบแทนจะไม่สูงหรือไม่จูงใจเพียงพอ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันในตลาดโลก

สำหรับประเด็นการแยกหน่วยงานกำกับกิจการกับการบริหารจัดการ ถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่ควรจะแยกออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะการบริหารสนามบินภูมิภาค 28 แห่งดำเนินการเชิงสังคมและความมั่นคง มีเพียงระยะหลังที่มีเที่ยวบินพาณิชย์เข้ามาบ้าง โดยสนามบินที่ทำกำไรได้ขณะนี้ ได้แก่ กระบี่ สุราษฏร์ธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช แต่หากตัดสนามบินที่ทำกำไรออกไปให้หน่วยงานอื่น สนามบินที่ขาดทุนก็จะไม่มีงบประมาณเลี้ยงตัว

แต่หากเสนอให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) รับไปบริหารหมดทั้ง 28 แห่ง ก็คงไม่ได้ เพราะ AOT เป็นบริษัทมหาชน ที่มุ่งทำกำไร การนำสนามบินที่มีผลขาดทุนรวมไปด้วยคงไม่ได้รับการตอบรับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ