พร้อมกันนั้น ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมติดตามแผนปรับปรุงต่างๆ และ แผนปฏิบัติ (Action Plan) โดยยอมรับว่ามาตรการของญี่ปุ่นกระทบต่อธุรกิจการบินในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่จะมีนักท่องเที่ยวจากไทยไปญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่วนเที่ยวกลับจะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยมากเช่นกัน ส่วนเส้นทางบินที่มีอยู่เดิม ญี่ปุ่นไม่ได้ระงับการบินใดๆ สายการบินของไทยยังคงบินได้เส้นทางบินเดิมในปริมาณเดิม
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ผิดหวังกับปฏิกิริยาของญี่ปุ่นที่ออกมาก่อนเวลาที่ ICAO จะมีการสรุป ซึ่งมีเวลา 90 วัน หรือในเดือน พ.ค.ก่อนจะมีมาตรการใด ๆ ออกมา และผิดหวัง ICAO เพราะที่ผ่านมาทั้งบพ.และกระทรวงคมนาคมได้ทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยมีแผน เช่น แยกบทบาทหน้าที่ของบพ. จากที่รวมศูนย์ทุกเรื่อง โดยแยกด้าน นโยบาย (Policy) มาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม และแยกหน่วยงานกำกับดูแล(Regulator) ออกมา ส่วน Operator นั้นให้หน่วยงานอื่นดูแลแทน เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. เป็นต้น
ด้านกฎหมายได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขแล้ว และจะเร่งรัดแก้พ.ร.บ.เดินอากาศไทยพ.ศ. 2497 ด้านบุคลากรได้จัดทำแผนปรับปรุง ชัดเจน เราเชื่อมั่นแผนการปรับปรุงที่เสนอไป แต่ ICAO บอกว่ายังไม่ผ่านการรับรอง
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารการบินไทย และบพ. ให้เร่งทำงานเป็ทีมเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว เช่น งบประมาณว่าจ้างบุคลากรเพิ่มจำนวน 23 ล้านบาท (มี.ค.-ก.ย. 58) งบประมาณปรับปรุงระบบ Bata Base ต่างๆ 80 ล้านบาท และการแก้ไขปฎหมาย เป็นต้น