ทริสฯ คงเครดิต SST ที่ “BBB-"เปลี่ยนแนวโน้มเป็น“Stable"จาก“Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 22, 2015 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย(SST) ที่ระดับ “BBB-" พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ" โดยการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจอาหารที่ขยายตัวและการขายธุรกิจถั่วเหลืองและน้ำมันพืชที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องออกไป

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงโอกาสเติบโตในธุรกิจอาหารและการดำเนินงานที่มั่นคงของธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสาร อย่างไรก็ตาม ความแข่งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจอาหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและการบริโภคที่อ่อนตัวลง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นของบริษัท โดยความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลดลงหลังจากบริษัทได้ขายธุรกิจที่มีความผันผวนออกไป ในขณะเดียวกัน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีฐานะการเงินที่ดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกระแสเงินสดจากธุรกิจอาหารและธุรกิจคลังสินค้า

คุณภาพเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากอัตรากำไรของบริษัทยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องหรือบริษัทมีการลงทุนที่ทำให้บริษัทต้องก่อหนี้เป็นจำนวนมาก ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมาจากความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอาหารซึ่งเห็นได้จากการมีอัตรากำไรที่สูงกว่าคาดและมี EBITDA สูงกว่า 600 ล้านบาทต่อปี

SST ก่อตั้งในปี 2519 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2530 ณ เดือนมีนาคม 2558 ครอบครัวชินธรรมมิตร์และกลุ่มเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกันจำนวน 67.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เริ่มแรกบริษัทดำเนินธุรกิจคลังสินค้าและท่าเรือที่จังหวัดสมุทรปราการ และต่อมาได้ขยายกิจการสู่ธุรกิจคลังเอกสาร บริษัทขยายกิจการสู่ธุรกิจถั่วเหลืองและน้ำมันพืชในปี 2553

อย่างไรก็ตาม บริษัทขายธุรกิจนี้ออกไปในเดือนกันยายน 2558 และในปี 2555 บริษัทได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอาหารโดยได้ซื้อกิจการของกลุ่ม Mudman ที่ถือสิทธิในการประกอบธุรกิจร้าน “Dunkin’ Donuts" “Au Bon Pain" และ “Baskin Robbins" ในประเทศไทย บริษัทยังขยายการลงทุนไปในธุรกิจอาหารเพิ่มเติมโดยการซื้อกลุ่ม Greyhound อันประกอบไปด้วย บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด (GH) และ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด (GHC) ซึ่งทำให้บริษัทมีแบรนด์อาหารเป็นของตนเอง ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีร้านอาหารทั้งหมด 361 ร้าน เทียบกับ 338 ร้าน ณ สิ้นปี 2556 ปัจจุบันธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้แก่บริษัทซึ่งคิดเป็นกว่า 80% ของรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2557

ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีรายได้ 2,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จาก 2,071 ล้านบาทในปี 2556 การเพิ่มขึ้นของรายได้ดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการรวมเอารายได้ของกลุ่ม Greyhound เข้ามาจำนวน 328 ล้านบาท หากไม่รวมรายการดังกล่าวแล้ว รายได้ของบริษัทจะเติบโต 2.7% การเติบโตที่อ่อนตัวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว บริษัทมีอัตรากำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ลดลงจาก 16.8% ในปี 2556 เป็น 12% ในปี 2557 การลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายพิเศษเกี่ยวกับการซื้อกิจการและขายธุรกิจของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างปี

ในอนาคตมีการคาดหมายว่าธุรกิจของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากการเพิ่มจำนวนสาขาของธุรกิจอาหาร รวมถึงธุรกิจที่เพิ่งซื้อเข้ามาอย่าง GHC นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศผ่านการขายแฟรนชายส์ด้วย ซึ่งรายได้จากการขายแฟรนชายส์จะช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรดีขึ้นเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในปี 2558 รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้นกว่า 25% โดยเกิดจากการรวมรายได้เต็มปีของกลุ่ม Greyhound และแผนการขยายสาขาในส่วนธุรกิจอาหารของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถปรับอัตรากำไรให้อยู่ในระดับ 15%-17%

ในปี 2557 บริษัทได้ขายธุรกิจถั่วเหลืองและน้ำมันพืชที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องออกไป โดยบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการการขายธุรกิจทั้งสิ้น 815 ล้านบาทไปใช้ชำระหนี้ของธุรกิจในส่วนนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนทรัพย์ศรีไทยสมาร์ทสตอเรจ (SSTSS) มูลค่ารวม 818 ล้านบาทด้วย บริษัทได้ลงทุนในกองทุนดังกล่าวในสัดส่วน 15% เป็นจำนวนเงิน 123 ล้านบาท โดยบริษัทได้รับเงินสดจากธุรกรรมนี้ทั้งสิ้น 611 ล้านบาท

ในช่วงกลางปี 2557 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของกลุ่ม Greyhound ผ่านทาง บริษัท มัดแมน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,854 ล้านบาท โดยบริษัทใช้เงินที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน SSTSS ประมาณ 600 ล้านบาทและใช้เงินกู้อีกประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือบริษัทชำระด้วยการออกหุ้นใหม่ของบริษัทมัดแมนมูลค่ารวม 588 ล้านบาท โดยบริษัทมัดแมนได้มีการเพิ่มทุนจำนวน 1,418 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการลงทุนดังกล่าวและสำรองไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทมัดแมนบางส่วน การเพิ่มทุนดังกล่าวส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในบริษัทมัดแมนลดลงเหลือ 75% ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของกลุ่ม Greyhound และบริษัทน้ำตาลขอนแก่นจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 16% และ 9% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในเดือนมีนาคม 2558 บริษัทได้ซื้อหุ้นในบริษัทมัดแมนจากผู้ถือหุ้นเดิมของกลุ่ม Greyhound จำนวน 5% ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมัดแมน 80% ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของกลุ่ม Greyhound และบริษัทน้ำตาลขอนแก่นจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 11% และ 9% ตามลำดับ

ภายหลังธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด บริษัทมีหนี้สินลดลงเล็กน้อยเป็น 1,907 ล้านบาทในปี 2557 จาก 2,161 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่เข้มแข็งขึ้นจากการเพิ่มทุนของบริษัทเองและการเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเหลือ 48.3% ในปี 2557 จาก 62.9% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงในปี 2557 โดยบริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 2.1 เท่าในปี 2557 เทียบกับ 3.7 เท่าในปี 2556 และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 4.8% ในปี 2557 เทียบกับ 6.3% ในปี 2556 สภาพคล่องที่อ่อนตัวลงส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุมาจากการมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและการมีภาระค่าเช่าดำเนินงานจากการที่บริษัททำสัญญาเช่าระยะเวลา 10 ปีกับ SSTSS

ในระหว่างปี 2558-2560 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานระหว่าง 280-420 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ปีละ 80-180 ล้านบาทและเพื่อสนับสนุนการลงทุนของบริษัท โดยบริษัทมีแผนการลงทุนปีละ 350-500 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจอาหาร รวมทั้งเพื่อเพิ่มแบรนด์อาหารใหม่ ๆ ตามแผน เนื่องจากการลงทุนของบริษัทบางส่วนต้องอาศัยการก่อหนี้ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนควรอยู่ในระดับไม่เกิน 50% ทริสเรทติ้งยังคาดหมายให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 17%-19% ในช่วงปี 2558-2560 และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่าในช่วงเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ